นอกจาก “คน” คือนักการเมืองแล้ว “รัฐธรรมนูญ” ยังเป็นอีกปัญหาสำคัญ ที่อำนาจทำให้การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เป็นไปด้วยความยุ่งยากและยุ่งเหยิง ถึงแม้พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหา เช่น พรรคเพื่อไทย ที่เชื่อว่ารัฐมนตรีใหม่จะยังคงเป็นหน้าเดิมๆ แต่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด คือเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นคนใหม่

พรรคร่วมรัฐบาลที่มีปัญหามากที่สุด ได้แก่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแตกแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นผู้นำกลุ่ม แต่มี สส.สนับสนุนเพียงไม่กี่คน ไม่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยจะยินยอมให้กลุ่มนี้ร่วมสังฆกรรมหรือไม่ กลุ่มที่ 2 คือกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค

ไม่น่าแปลกใจที่ “ผู้กอง” ธรรมนัสประกาศตัดขาดกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาหลายปี คราวนี้ผู้กองประกาศว่ารับใช้คนคนหนึ่งมานานหลายปี แต่คราวนี้จะต้องตัดขาดจากกัน โอกาสที่จะได้ร่วมรัฐบาลครั้งนี้ กลุ่มผู้กองมีมากกว่า เพราะมี สส.ในสังกัดราว 34 คน จากทั้งหมด 40 คน

พรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคหนึ่ง คือพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคอันดับ 2 ในรัฐบาลชุดก่อน คราวนี้ก็น่าจะไม่มีปัญหาในการเลือกรัฐมนตรีใหม่ แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคอาจมีปัญหาส่วนตัว เพราะถูกทนายความบุรีรัมย์ร้องต่อ ป.ป.ช. ตรวจสอบ กรณีถือครองที่ดินเขากระโดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย

“ทนายอั๋น บุรีรัมย์” ร้อง ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายอนุทิน เนื่องจากถือครองที่ดินที่ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดเป็นที่ดินของแผ่นดิน ทำให้ผู้ถือครองที่ดินมีปัญหาขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ อย่าลืมว่าศาลเคยวินิจฉัยให้เลขา ธิการพรรคหลุดรัฐมนตรีมาแล้ว

...

อีกพรรคหนึ่งที่มีปัญหา อาจไม่ใช่ปัญหาการแต่งตั้งรัฐมนตรีโดยตรง แต่เป็นปัญหาการเมืองและเกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาลใหม่ นั่นก็คือพรรคไทยสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค มี 6 สส.ถูกพรรคกล่าวหาฝ่าฝืนอุดมการณ์และจุดยืนของพรรคด้วยการลงมติสนับสนุน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

คณะกรรมการวินัยและจริยธรรมของพรรค โดยความเห็นชอบของหัวหน้าพรรคได้เชิญนางสุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร มาสอบถามเป็นคนแรก แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงลงมติให้ขับออกจากพรรค แต่ยังสามารถหาพรรคใหม่เพื่อรักษาสถานะของ สส.ไว้ได้ อาจถือว่าเป็นความพิสดารอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม