“ณัฐพงษ์” เสนอญัตติด่วนปมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อ ไม่มีนักกฎหมายคนไหนยอมรับได้ ด้าน “อดิศร” ลั่น นิ้วไหนร้ายต้องตัดทิ้ง พระที่ปาราชิกก็ต้องสึก อย่าเป็นกาดำในกระบวนการยุติธรรม ก่อนที่ประชุมสภา มีมติเห็นชอบส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการต่อ

เมื่อเวลา 17.12 น. วันที่ 22 สิงหาคม 2567 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเกี่ยวกับการแสดงออกของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตุลาการในเวทีสาธารณะซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชนจนนำไปสู่การตั้งคำถามต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพื่อส่งข้อสังเกตและข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดำเนินการต่อไป จากนั้นเวลา 17.14 น. นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องในทำนองเดียวกัน

ทั้งนี้ ก่อนการอภิปราย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เตือนการอภิปรายว่าให้ระวังการละเมิดอำนาจศาล และการกล่าวถึงบุคคลภายนอก โดย นายณัฐพงษ์ อภิปรายว่า สืบเนื่องจากกรณีที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง บรรยายบนเวทีสาธารณะที่ จ.สุราษฎร์ธานี และแสดงความเห็นที่ระบุถึงพรรคประชาชน ที่บอกว่าพวกเราจะต้องขอบคุณที่ท่านได้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล จนนำมาสู่การที่พรรคประชาชนได้รับเงินบริจาคสูงถึง 20 ล้านบาท ตนคิดว่าการแสดงความคิดความเห็นแบบนี้ในเวทีสาธารณะของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการคิดไตร่ตรองอย่างดีว่าเป็นการแสดงทัศนคติส่วนตัว หรือเป็นการแสดงทัศนคติที่ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของท่านในฐานะองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ

...

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า หากแสดงความคิดเห็นในนามส่วนตัวคงไม่ขัดข้อง แต่เป็นการแสดงความเห็นที่ท่านเองเป็นองค์คณะตุลาการ ที่พิพากษาประหารชีวิตพรรคการเมือง คือการยุบพรรคการเมือง การแสดงความเห็นเช่นนี้ในเชิงประชดประชันหรือถากถาง คิดว่าแบบนี้เป็นความชอบธรรมของสภาผู้แทนราษฎรของประชาชนที่กำลังรับฟังอยู่ เราในฐานะตัวแทนปวงชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดควรจะต้องตั้งคำถามได้ต่อองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ

พร้อมยกมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 2 ว่าด้วยจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อที่ 13 ระบุว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ ข้อที่ 17 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง

แต่จากการแสดงทัศนคติดังกล่าวคิดว่าเป็นกลางหรือไม่ เป็นการแสดงทัศนคติที่สาธารณชนสามารถตั้งคำถามได้หรือไม่ว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ใช้อคติส่วนตัวในการวินิจฉัยหรือไม่ ตนมองว่าเรื่องแบบนี้เราตั้งคำถามได้ และเวทีสภาสามารถแสดงความเห็นได้ร่วมกัน นอกเหนือจากมาตรฐานทางจริยธรรม ยังมีจรรยาบรรณวิชาชีพของคนที่เป็นตุลาการ เป็นผู้พิพากษา คือ ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 28 บัญญัติว่า ผู้พิพากษาไม่พึงแสดงปาฐกถา บรรยาย สอน หรือเข้าร่วมสัมมนาอภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา

“ผมคิดว่าคงไม่มีนักกฎหมายคนไหนที่จะสามารถยอมรับได้ว่า องค์คณะผู้พิพากษาตัดสินคดีออกมาแสดงความคิดความเห็นเชิงเสียดสีประชดประชันแบบนี้ ผมคิดว่านี่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าทำให้เกิดความเสื่อมเสียของจรรยาบรรณวิชาชีพของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”

โดยในช่วงท้าย นายณัฐพงษ์ ขอเพื่อนสมาชิกให้ความเห็นชอบในญัตตินี้เพื่อส่งข้อสังเกตไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะควรให้คนในองค์กรนั้นตรวจสอบกันเอง ไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะไปใช้อำนาจล่วงเกินฝ่ายอื่นๆ อีกสิ่งที่เราทำได้ร่วมกันคือการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะมีเพื่อนสมาชิกอภิปรายในส่วนนี้ว่า เวลาของสภาชุดนี้ที่เหลืออีก 2 ปีกว่า จะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ อำนาจหน้าที่ ที่มาที่ไป การถอดถอนองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างไรได้บ้าง เพื่อย้ำว่าเราฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเต็มเรื่องนี้ เพื่อทำให้สภาผู้แทนราษฎรทรงความศักดิ์และสิทธิ์ในการเป็นผู้แทนของปวงชน

ต่อมา 17.25 น. นายอดิศร ผู้เสนอญัตติที่ 2 อภิปรายว่า ได้ดูข่าวที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งไปบรรยาย แสดงความคิดเห็นว่าลักษณะตนเองเป็นใหญ่ อวดเบ่ง เหยียดหยามเสียดสีบุคคลซึ่งเคยเป็นคู่กรณีในศาลรัฐธรรมนูญ ตนเองให้ความเคารพคำว่าศาล เพราะเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนว่า นิติศาสตร์ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ให้ความยุติธรรมแบบเกลือ เค็มตลอดไม่มีเอนเอียง ไม่มีอคติ ไม่มีมายาคติ พร้อมยกบทประพันธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ที่ว่า “เอ็งกินเหล้าเมายาไม่ว่าหรอก แต่อย่าออกนอกทางไปให้เสียผล จงอย่ากินสินบาทคาดสินบน เรามันชนชั้นปัญญาตุลาการ” ซึ่งกรณีนี้เป็นการกระทำโดยอาศัยตนเองที่ได้ตัดสินคดีมา ยังติดค้างในใจหรือไม่

นายอดิศร กล่าวต่อไปว่า “เรามีสิทธิ์พูด นิติบัญญัติ ตุลาการ บริหาร เขาถ่วงดุลกัน เรากำลังทำหน้าที่ถ่วงดุลกับฝ่ายตุลาการ เรามีคดีความท่านตัดสิน ท่านตัดสินยุบพรรค ท่านตัดสินประหารชีวิตนายกรัฐมนตรีของผม 5 ต่อ 4 อันนี้จะต้องหาทางร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญ และแก้วิธีพิจารณาความเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของท่านต่อไป เราให้ท่านไปเป็นพระ โดยการกลั่นกรองของวุฒิสภา 9 ท่าน กลั่นกรองเต็มที่มาแล้ว ให้ท่านเป็นพระอยู่บนหิ้ง พระต้องอยู่ในธรรมวินัย ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพระเยี่ยงสมณะ เมื่อท่านทำผิดพระวินัย ท่านปาราชิก เป็นพระที่ปาราชิกไปบิณฑบาตไม่มีใครใส่บาตรแล้ว ผมว่าคนเดียว ไม่ได้ว่าทั้งองค์กร”

นี่เป็นครั้งแรกที่เราอภิปรายเรื่องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าไม่มีอคติ แต่เห็นว่าการไปพูดนั้นไม่เหมาะสม ท่านติดตลก แต่ไม่ตลกกับท่าน เพราะตราชู คือสัญลักษณ์ของความยุติธรรม ท่านกำลังทำลายตราชู ความยุติธรรม เขาห้ามบรรยาย ห้ามปาฐกถา ท่านทราบ พระที่ปาราชิกก็ต้องสึก อย่าเป็นกาดำ เป็นสิ่งไม่ดีในกระบวนการยุติธรรม ตนอยากให้ ตุลาการ นิติบัญญัติ บริหาร ทำหน้าที่ของตัวเอง อย่ายกตนข่มท่าน พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นในความยุติธรรม ฝ่ายนิติบัญญัติทุกคนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาธิปไตยถ่วงดุลกัน ถ้าตุลาการท่านใดไม่เคารพประชาธิปไตย ไม่เข้าใจคำว่าถ่วงดุล ทำหน้าที่ต่อไปไม่ได้

“เราไม่มีข้อขัดแย้งกับองค์กรตุลาการทั้งหมด เรามีเรื่องเฉพาะบุคคล นิ้วไหนร้ายตัดทิ้ง ตัดอวัยวะรักษาชีวิต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาอันทรงเกียรติ ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติด้วยกัน เราเป็นผู้เสียหายร่วมกัน จะต้องปกปักรักษา ท่านชี้นิ้วว่าคนอื่นขัดจริยธรรม แต่อีก 3 นิ้วที่ชี้เข้าหาตนเองท่านไม่อธิบายได้อย่างไร”

จากนั้น นายอดิศร ชวนสมาชิกเห็นด้วยกับญัตติของตนและนายณัฐพงษ์ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ก่อนทิ้งท้ายว่า ขอส่งความปรารถนาดีไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้มีความสุขกับความยุติธรรม และขอให้ประชาชนศรัทธาทุกศาลในประเทศไทย

เวลา 18.24 น. ภายหลังสมาชิกร่วมกันอภิปรายเสร็จสิ้น ประธานสภาฯ ถามที่ประชุมว่าควรจะส่งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยเมื่อไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ถือว่าที่ประชุมนี้ลงมติเห็นชอบ แล้วจึงสั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 18.26 น.