"รังสิมันต์ โรม" ฝากถึง "ตุลาการ" ไม่ควรมองยุบพรรคเป็นเรื่องตลก ชี้ สังคมเจริญแล้ว ไม่มีใครยอมรับได้ มองยอดสมัครสมาชิก-บริจาค เพราะประชาชนอยากหนุนพรรคการเมืองที่รู้สึกเป็นเจ้าของได้

วันที่ 21 ส.ค. นายรังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ บนเวทีเสวนาในเชิงขบขันว่า พรรคก้าวไกล ต้องขอบคุณตนที่ยุบพรรค จนทำให้ได้เงินจำนวน 20 ล้านบาท โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า จริงๆ ต้องบอกว่า การยุบพรรคการเมืองใน พ.ศ. นี้ ไม่มีสังคมไหนที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะสังคมที่จะเจริญแล้ว จนทำให้นักการเมือง หรือพรรคการเมือง เวลาไปพูดคุยกับพรรคการเมืองในต่างประเทศ นักการเมืองในต่างประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตย พบว่า มีความแปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการยุบพรรคก้าวไกล เพราะการยุบพรรคไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ก็มีพรรคการเมืองเคยถูกยุบ และไม่มีใครยอมรับหรือเข้าใจ โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นประเด็นในการนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล ดังนั้นการยุบพรรคแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่สามารถยอมรับ

ส่วนหลังจากยุบพรรคแล้ว ประชาชนก็มีการสมัครสมาชิก รวมถึงบริจาคเงิน เป็นการดำเนินการโดยภาคประชาชนที่รู้สึกว่า เขาอยากจะผลักดันพรรคการเมืองที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของ ให้กลับมาตั้งหลัก และทำหน้าที่ในสภาได้ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งเมื่อเทียบกับการความเสียหายในการยุบพรรค การยุบพรรคมีความเสียหายมากกว่าเยอะ แต่ประชาชนก็ทำในสิ่งที่พวกเขาพอทำได้ในการสนับสนุนพวกเรา  ดังนั้นไม่ใช่เรื่องตลกหรือนำมาพูดเล่นกันได้ว่า การยุบพรรค ทำให้พรรคประชาชน มีรายได้ 20 ล้านบาท ทำให้นักการเมืองที่มีคุณภาพที่ควรจะเป็นอนาคตของประเทศถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ทำให้ สส. ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อไม่มีสิทธิ์ต่อไป การยุบพรรคทำให้เราต้องแสวงหาสมาชิก ทำให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกจำนวนมากถูกทำลาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความเสียหายของพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่เป็นความเสียหายของประชาชนที่เขาอยากจะเห็นการเมืองที่ต่อสู้ด้วยนโยบาย ทางความคิด จึงมองว่า การใช้กฎหมายในการยุบพรรคเป็นสิ่งที่ควรจะหมดไปได้แล้ว ซึ่งปัจจุบันยังเป็นอยู่ และตนค่อนข้างตกใจ พร้อมทั้งมีความรู้สึกว่า คนที่สั่งการให้มีการยุบพรรคแบบนี้ เขาไม่ได้รู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเลย และจะทำเป็นความรู้สึกที่ทีเล่นทีจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

...

ส่วนมุมมองเรื่องของวุฒิภาวะ นายรังสิมันต์ บอกว่า โดยความเข้าใจตุลาการศาล คนที่จบนิติศาสตร์ มีความรู้ทางกฎหมายในเรื่องนี้ก็คงมีความเข้าใจอยู่แล้ว ว่า ปกติคนที่เป็นศาล ไม่ว่า ศาลอะไรก็แล้วแต่ การตัดสินคดี ควรจะเป็นการตัดสินที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ตัวเองเป็นกลาง ไม่ใช่เอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของคดีที่ตัวเองตัดสิน ซึ่งถ้าหากเรามองด้วยท่าทีแบบนี้แน่นอนว่า จะทำให้เกิดคำถามว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลางหรือไม่ เป็นการตั้งอยู่บนพื้นฐานพยานหลักฐานความเป็นจริงหรือไม่ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ทำให้พรรคก้าวไกลได้โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นตนคิดว่า ระบบกฎหมายของเราจะมีปัญหามาก และจะทำลายความศรัทธาของพี่น้องประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีก

นายรังสิมันต์ ยังบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเกิดคำถามกับพี่น้องประชาชนจำนวนมากว่า สรุปแล้วการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่วงการนักกฎหมายกลัวที่สุด คือ การตัดสินไม่จบ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ และตนก็เชื่อว่า ตอนนี้ก็ประชาชนมีคำถามหรือความรู้สึกแบบนี้และนำไปสู่ความที่ไม่เชื่อมั่นทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ เมื่อการเมืองขาดเสถียรภาพก็เหมือนประเทศที่ไร้วิญญาณ ดังนั้นคนที่เกี่ยวข้องในการทำลายศักยภาพการเมืองของประเทศควรจะต้องรับผิดชอบ

รวมถึงการแก้ไขมาตรา 112 มีหลายคนมองว่า พรรคก้าวไกล ไม่ควรจะถึงขนาดยุบพรรค เพราะการแก้ ม.112 มีคนเคยแก้มาก่อน และไม่มีกฎหมายอะไรที่ระบุว่า ห้ามแก้ ซึ่งหากมีการห้าม และพรรคก้าวไกลฝ่าฝืน ก็จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ก็คงมีคนจำนวนมากที่มีคำถามว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการตัดสินที่ชอบด้วยกฎหมายจริงหรือไม่ และตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นการตัดสิน เสียง 9:0 ทำให้เกิดคำถามเรื่องความโปร่งใสในการตัดสิน เพราะหากเทียบกับการตัดสินอื่นๆ ยากมากที่จะหาฉันทามติแบบนี้ คงมีประชาชนส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่า อยากจะทำอะไรที่สามารถทำได้ และเป็นภาพสะท้อนจากนิสิตนักศึกษาที่ไปเข้าชื่อถอดถอน

ส่วนกรณีที่ตุลาการ ระบุว่า พรรคควรขอบคุณ นายรังสิมันต์หัวเราะ ก่อนจะกล่าวว่า เราคงขอบคุณไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรพูดคุยกันแบบจริงจังดีกว่า การใช้ประโยคแบบเยาะเย้ยถากถาง เป็นการพูดที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในอำนาจของประชาชนเลย และตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในสังคมต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าคุณจะเป็นองค์กรอะไรก็แล้วแต่ หรือจะมีที่มาอย่างไรตามรัฐธรรมนูญ แต่ตนอยากให้ทุกคนเคารพในอำนาจสูงสุดที่เป็นของประชาชน

"อย่างน้อยมีความเคารพกันบ้าง ผมเข้าใจเกมการเมือง ผมเข้าใจเรื่องความพยายามที่จะทำลายพรรคก้าวไกล จากฝ่ายต่างๆ แต่ผมยืนยันว่า ไม่ว่าท่านจะรู้สึกอย่างไร ไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ชอบพรรคก้าวไกล แต่ช่วยเคารพอำนาจของประชาชนบ้าง อย่าให้การใช้นิติสงครามเป็นเรื่องปกติในสังคมเลย" นายรังสิมันต์ กล่าว.