หลังจากที่รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายเรื่อง รวมทั้งประโยคที่ว่าจะทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศแห่งโอกาส มีความหวัง เป็นประเทศแห่งความสุขของทุกคนอย่างเท่าเทียม และยืนยันว่านโยบายแจกเงินยังอยู่

นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดของประเทศ ยอมรับว่าไม่สามารถสร้างประสบการณ์ด้วยการดีดนิ้วครั้งเดียว แต่จะขอคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ทั้งหมด เพื่อทำให้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีความหมาย และผลักดันนโยบายเพื่อประเทศชาติให้ได้มากที่สุด รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุด ด้วยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

มีนักข่าวบางคนถามว่า กลัวจะโดนคดีแบบคุณพ่อหรือคุณอาหรือไม่ นายกรัฐมนตรีมือใหม่ตอบว่า ไม่มีใครอยากโดนเหมือนคุณพ่อคุณอา และคุณพ่อคุณอาก็ไม่อยากให้เป็นแบบนี้ ตั้งใจจะทำตามที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด เราจึงต้องมองไปที่เป้าหมาย เพราะหากมองเรื่องความกังวล จะไปไม่ถึงเป้าหมาย

“คดีคุณพ่อ–คุณอา” ที่พูดถึง หมายถึงคดีที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกฟ้อง ทั้งในขณะที่อยู่ในตำแหน่ง หรืออาจพ้นหน้าที่แล้ว ส่วนมากเป็นการกระทำที่เรียกว่า “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” หรือคดีประโยชน์ทับซ้อน เช่น นายทักษิณถูกฟ้องคดีให้ธนาคารรัฐให้พม่ากู้เงิน 4 พันล้านบาท

แต่เป็นการให้กู้ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้กู้ต้องนำเงินกู้มาซื้อสินค้าในไทย ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ถูกฟ้องว่ากระทำการทุจริตใด แต่ถูกฟ้องว่าปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหาย หลายแสนล้านบาท โดยที่นายกรัฐมนตรีไม่ระงับยับยั้ง มีรัฐมนตรี 2 คน พร้อมทั้งข้าราชการและพ่อค้าถูกจำคุกคนละหลายสิบปี

...

แต่นายกรัฐมนตรีถูกพิพากษาให้จำคุกแค่ 5 ปี และไม่ได้ติดคุกจริง เพราะหลบหนีไปลี้ภัยต่างประเทศ และมีรายงานข่าวว่าอยากกลับประเทศไทย โดยไม่ต้องติดคุกเช่นเดียวกับพี่ชาย อาจเป็นประเด็นทางการเมือง ให้รัฐบาลแพทองธารถูกโจมตีเกี่ยวกับเรื่องการปกครองประเทศ โดยไม่ยึดหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นเสาหลักประชาธิปไตย

ทั้งคดีคุณพ่อและคุณอาเกิดขึ้น ในยุคธุรกิจการเมืองเฟื่องฟู นักการเมืองถือว่าการเมืองเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ จะต้องซื้อ สส.และซื้อเสียงประชาชนด้วยเงินก้อนโต จึงต้องถอนทุน และสะสมกองทุนเพื่อซื้อในการเลือกตั้งคราวหน้า แต่ปัจจุบันนี้ กกต.อาจไม่สนใจการซื้อเสียง แต่ต้องการคดียุบพรรค และผิดจริยธรรมร้ายแรงมากกว่า.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม