ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “สถานการณ์การเมือง” ไทยเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนแทบไม่เชื่อสายตา จากการยุบพรรคก้าวไกล ตามมาด้วยเซอร์ไพรส์ใหญ่ของคนไทย การพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน จากนั้นเราก็ได้ “นายกรัฐมนตรีหญิง” คนที่ 2 ไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในเวลาเพียง 2 วันหลังจากนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และคาดว่านายกฯ คนใหม่ของเราจะจัดตัวคณะรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ 1 ได้ในเวลาไม่นาน แต่ลึกๆแล้ว ในแวดวงเศรษฐกิจ และนักลงทุนไทย และต่างประเทศ ยังคงมีความกังวลถึงความต่อเนื่องของนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา และรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ ว่าจะต่อเนื่องไร้รอยต่อได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นโยบายด้านเศรษฐกิจ”

เพราะอย่างที่รู้กันว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ แม้จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง แต่เป็นการโตแบบแผ่วๆ แรงหมุนของเงินที่มีอยู่ในระบบไม่เพียงพอที่จะผลักเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆให้สตาร์ตติดต่อกันเป็นทอดๆ ยังต้องการเม็ดเงินสดใหม่เข้าไปเป็น “น้ำมันหล่อลื่น” เครื่องยนต์ เพิ่มพลังในการฟื้นตัว

ซึ่งตัวช่วยตัวแรกที่จะใส่เงินใหม่เข้าไปในระบบได้ คือ การเร่งการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยเฉพาะการเร่งโครงการลงทุนขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศที่จะช่วยเสริมความสามารถการแข่งขัน การลงทุนในโครงการที่จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งการเร่งพัฒนาและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว

โดยส่วนนี้ คงต้องติดตามว่า จะมีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ อย่างไร และจะทำให้การจัดสรรงบประมาณในโครงการต่างๆที่วางไว้แล้ว และการเบิกจ่ายงบประมาณจะทำได้ต่อเนื่องแค่ไหน มีโครงการไหนที่ต้องรื้อ โละ หรือทำให้ล่าช้าออกไปบ้างหรือไม่

...

ขณะที่อีกส่วนที่ขาดไม่ได้คือ มาตรการระยะสั้น สำหรับใช้กระตุ้นการใช้จ่ายแบบเร่งด่วน ซึ่งตามแผนเดิม รมว.และ รมช.คลัง ในรัฐบาลเศรษฐา ได้ประกาศว่า จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆออกมาก่อน ในช่วงที่ต้องรอเม็ดเงินจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่จะออกมาในไตรมาสที่ 4 ของปี เพื่อให้ไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยไม่สะดุด

ดังนั้น นอกเหนือที่จะต้องลุ้นการตัดสินใจว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต “จะไปต่อหรือพอแค่นี้” ยังต้องลุ้นก๊อกแรกด้วยว่า รัฐบาลมีมาตรการใดค้างอยู่ในท่อที่รอจะคลอดออกมากระตุ้นเศรษฐกิจชนิดเร่งด่วนในเร็วๆนี้หรือไม่ เพราะล่าสุดในเดือน มิ.ย. และ ก.ค.ที่ผ่านมาสัญญาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

ดังนั้น ในแง่ของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นายกฯอุ๊งอิ๊งค์ และขุนพลทีมเศรษฐกิจคู่ใจ คงจะไม่มีช่วงเวลา “ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์” ใดๆ แต่จะต้องเร่งเครื่อง “ใส่แบบจัดเต็มไม่ยั้ง” เพื่อเดิมพันเรียกความเชื่อมั่นของภาคประชาชน ธุรกิจ และเศรษฐกิจไทยให้กลับมามั่นใจที่จะใช้จ่าย และลงทุนใหม่อีกครั้ง.

มิสเตอร์พี

คลิกอ่าน "กระจก 8 หน้า" เพิ่มเติม