อดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน กับอดีตโฆษกพรรคก้าวไกล อาจจะมีความเห็นต่างกันหลายอย่าง แต่อย่างน้อยที่สุด ทั้งสองฝ่ายเห็นสอดคล้องกัน ในเรื่องการตีความเรื่อง “จริยธรรม” นายเศรษฐาน้อมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ตนพ้นจากตำแหน่ง แต่ยอมรับว่ารู้สึกเสียใจที่ศาล รัฐธรรมนูญตัดสินว่าตน “เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีจริยธรรม”

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ อดีต สส. และโฆษกพรรคก้าวไกล ปัจจุบันเป็น สส. พรรคประชาชน แสดงความกังวลที่นายกฯถูกถอดถอน พรรคประชาชนยืนยันว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรมีจริยธรรมและซื่อสัตย์สุจริต แต่ต่างคนต่างตีความพรรคไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจ ผูกขาดตีความ “จริยธรรม”

การมีอำนาจผูกขาดตีความเรื่องจริยธรรม เสี่ยงต่อการนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการถอดถอนนักการเมืองที่มาจากเลือกตั้งพรรคประชาชนจึงขอเชิญชวนสังคมและทุกพรรคการเมือง ร่วมกันจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยเร่งด่วน เพื่อทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่ศาล และองค์กรอิสระ ขณะนี้ต่างฝ่ายต่างตีความกฎหมายไปคนละทางสองทาง

ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิด ป.อาญา ม.112 ถูกตัดสินว่า “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่ 44 อดีต สส. พรรคก้าวไกลถูก ป.ป.ช.ฟ้องจำเลยคือ ผู้ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข ม.112 ในความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ถ้าผิดจริงอาจต้องห้ามการเมืองตลอดชีวิต

ม.112 กลายเป็นความผิดสารพัดโรค สส.ผู้เสนอแก้ไขอาจกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหา “ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง” หรือ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็ได้ จึงน่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อทบทวนบทบัญญัติเรื่องการล้มล้างการปกครองและฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้ชัดเจน อะไรคือการฝ่าฝืนจริยธรรมกันแน่

...

แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีก็สับสน เมื่อถูกตัดสินเป็น “นายกรัฐมนตรีที่ไม่มีจริยธรรม ซ้ำยังมีรายงานข่าวที่สับสน ระบุว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง หลังจากถูก ป.ป.ช.ไต่สวนแล้ว จะถูกส่งต่อไปยังศาลฎีกา ถ้าผู้ถูกกล่าวหาทำผิดจริง ต้องถูกถอดถอนพ้นจากตำแหน่ง ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีพ

แต่อดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา แม้ศาลจะระบุว่าฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง แต่ดูเหมือนไม่ถูกห้ามสมัครตำแหน่งใดๆ หรือห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีพ รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด เป็นกติกาสูงสุดในการปกครองประเทศ จึงต้องเขียนให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างฝ่ายต่างตีความก่อให้เกิดความสับสนเป็นวิวาทะทางกฎหมาย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม