พรรคการเมืองของไทยถูกยุบมาแล้วไม่รู้กี่สิบพรรค นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้ยุบได้ แต่ไม่เคยมีครั้งใด ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศ เหมือนกับการยุบพรรคก้าวไกล ไม่ใช่แค่เสียงวิพากษ์จากสื่อหรือภาคเอกชน แต่เป็นเสียงจากผู้แทนรัฐบาลประเทศประชาธิปไตย จากสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปเกือบ 20 ประเทศ

นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แสดงความไม่พอใจ ที่ประเทศไทยถูกต่างประเทศวิพากษ์ ด้วยการโต้ว่าไทยเป็นประเทศเอกราช ไม่ควรมีการแทรกแซงกิจการภายในจากต่างประเทศ ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ “เดอะการ์เดียน” ของอังกฤษ ค่อนข้างเผ็ดมัน

นายพิธาซึ่งเคยเป็นผู้สมัครนายกรัฐมนตรีอันดับที่ 1 หลังจากที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2566 บอกนักหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่ถูกล็อก 2 ชั้น คือล็อกด้วยกฎหมายกับรัฐประหาร แม้ สส.พรรคก้าวไกลจะยกขบวนไปตั้งพรรคใหม่คือพรรคประชาชน ก็อาจถูกตามขยี้อีก หวังว่า ผู้มีอำนาจจะหยุดเสียที

ปฏิกิริยาของนายเศรษฐากับนายพิธา สะท้อนถึงช่องว่างระหว่างวัยและความต่างกันในการมองโลก ปัจจุบันประเทศ ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดของสมาชิกสหประชาชาติเกือบ 200 ประเทศ เป็นประชาธิปไตย ยึดกฎบัตรสหประชาชาติ และปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทุกประเทศที่สมัครเป็นสมาชิกยูเอ็น มีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติ

ประเทศใดทำผิดกฎบัตรสหประชาชาติ หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน อาจถูกลงโทษตามกติกา เช่น ประเทศที่ก่อสงครามยกทัพรุกรานประเทศอื่น ถูกสมาชิกสมัชชาใหญ่ลงมติประณาม เกือบ 200 ประเทศ บางประเทศอาจถูกคว่ำบาตร ไม่มี ประเทศใดมีสัมพันธ์การทูต การค้าและการลงทุนส่งผลให้เศรษฐกิจพัง ผู้คนต้องหนีไปประเทศอื่น

...

ชัดเจนที่สุดได้แก่พม่า ที่เคยถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตร ตัดสัมพันธ์ทางการทูต ทางการค้าและการลงทุน เศรษฐกิจทรุดหนัก คนพม่านับล้านๆต้องหนีเข้ามาทำงานในไทย แม้แต่ประเทศไทยยูเอ็นลงโทษ เมื่อไทยสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยสอบตก เพราะเสียงส่วนใหญ่มองว่าไทยไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้

ขณะนี้ ไทยก็ยังไม่ลดละความพยายาม ที่จะเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของประเทศ แต่นักวิชาการไทยบางคนฟันธงล่วงหน้า ถ้าพรรคก้าวไกลถูกยุบ เลิกฝันที่จะเป็นมนตรีสิทธิมนุษยชนได้ พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคใหญ่สุด ถูกยุบแล้วอาจยังไม่พอ นายพิธาบอกว่ายังอาจถูกตามราวีต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม