ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ปี 2567 จำนวน 227 รายการ วงเงิน 867 ล้านบาท
วันที่ 13 สิงหาคม 2567 นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทาน ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 867,812,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปี พ.ศ. 2567 รวม 227 รายการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ตามที่ได้เกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันภาคใต้ และอ่าวไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2566 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ส่งผลกระทบให้อาคารชลประทานต่างๆ ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เกษตรกรประชาชนได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศในด้านภาคการเกษตร ภาคอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรม
คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ก.ช.ภ.จ.) ประชุมร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนของจังหวัด เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ในส่วนของกรมชลประทาน คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ก.ช.ภ.จ.) มีมติรับรองความเสียหายของอาคารชลประทาน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สุราษฎร์ธานี พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการซ่อมแซมควบคุมอาคาร และระบบชลประทานโดยเร่งด่วน
...
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความจำเป็นต้องเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปี พ.ศ. 2567 จำนวน 227 รายการ วงเงิน 867,812,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามนัยข้อ 9 (3) ของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562
1. เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคาร และระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และการใช้ให้กับคืนสุขภาพเดิม หรือมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีสภาพพร้อมใช้งานและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้ดีขึ้น สามารถรองรับปริมาณน้ำหลักได้
2. เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อกิจกรรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาวเกณิกา ยังระบุด้วยว่า แผนงานโครงการขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 867,812,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ผลลัพธ์ของโครงการ กรมชลประทาน จะมีอาคารชลประทาน จำนวน 227 รายการ ที่มีสภาพพร้อมใช้งาน สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ.