น่าตกใจผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน โดยสวนดุสิตโพลครั้งล่าสุด พบว่า คนส่วนใหญ่มองว่าการเมืองไทยในช่วงนี้แย่ลง 67.57% เห็นว่าเหมือนเดิม 20.07% มีคนที่เห็นว่าการเมืองดีขึ้นแค่ 6.36% คนส่วนใหญ่ 68.44% เชื่อว่าทิศทางการเมืองต่อไปจะแย่ลง 23.89% เชื่อว่าจะเหมือนเดิมมีแค่ 7.67% ที่เชื่อว่าจะดีขึ้น

สวนดุสิตโพลพบด้วยว่า มีกลุ่มตัวอย่าง 63.73% ไม่เชื่อมั่นการทำงานของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่เชื่อมั่นมีเพียง 36.27% ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรี คนส่วนใหญ่ 55.62% เห็นว่าควรปรับ 35.48% เห็นว่าจะปรับก็ได้ไม่ปรับก็ได้ เป็นผลของการสำรวจระหว่างวันที่ 7 ถึง 9 สิงหาคม ช่วงเวลาเดียวกับการยุบพรรคก้าวไกล

จึงเชื่อว่าการยุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 สิงหาคม และการประกาศ “ยักไหล่ไปต่อ” ด้วยการตั้งพรรคประชาชน น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้คนมองการเมืองด้วยสายตาที่หดหู่สิ้นหวัง เนื่องจากเป็นพรรคใหญ่สุด เพิ่งชนะเลือกตั้งได้ สส.มาเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อปี 2566 แต่ถูกกีดกันไม่ให้เป็นแกนนำรัฐบาล ถูกดีดไปเป็นฝ่ายค้าน

คล้ายกับซูเปอร์โพลที่สอบถามความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 77.0% มองว่าบรรยากาศการเมืองกำลังร้อนระอุ สู่ความขัดแย้งรุนแรง อันเนื่องมาจาก 5 เหตุปัจจัย ได้แก่ กลุ่มตัวอย่าง 84.8% ชี้วิกฤติศรัทธาต่อผู้นำทางการเมือง 87.7% ระบุกระบวนการยุติธรรมล่มสลาย

ตามด้วย 66.3% ระบุว่าการแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนล้มเหลว 50.6% เสื่อมศรัทธาในองค์กรอิสระ และ 48.9% ระบุการยุบพรรคก้าวไกล ทั้งๆที่ขณะสำรวจยังไม่ถูกยุบ (ต้นเมษายน) แต่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าไม่รอดแน่ ต่อมามีการสำรวจความเห็นประชาชน โดยโพลสำนัก หนึ่ง พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างถึงกว่า 93 คน ที่สิ้นหวังองค์กรอิสระ

...

องค์กรอิสระถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 ได้รับยกย่องเป็นฉบับประชาชน หรือฉบับปฏิรูปการเมือง เนื่องจากระบบตรวจสอบและถ่วงดุลตามปกติล้มเหลว ไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงให้ทั้งองค์กรควบคุมการเข้าสู่อำนาจ คือ กกต. องค์กรควบคุมการใช้อำนาจ เช่น ป.ป.ช.

องค์กรอิสระที่เกิดใหม่ขณะนั้น ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนในระดับสูง เพราะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระและกล้าหาญ กกต.บางคนประกาศว่าจะไม่ยอมให้คนชั่วได้เหยียบแม้แต่บันไดสภา เหตุที่องค์กรอิสระเป็นอิสระ เพราะเข้ามาโดยสุจริตโปร่งใสไม่มีเส้นสายใดๆ แต่ในยุครัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ความอิสระอาจเปลี่ยนไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม