นายกรัฐมนตรี ยืนยัน รัฐบาลให้ความสำคัญกำจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมมอบหมาย รมว.ต่างประเทศ ประสานเพื่อนบ้านร่วมผลักดัน เล็งใช้เวทีแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 ตอกย้ำความมุ่งมั่นต่อประเทศสมาชิก

วันที่ 12 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยย้ำว่าเป็นวาระที่สำคัญ พร้อมได้มอบหมายให้ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเปิดเผยว่า ตนเองมีกำหนดการเข้าร่วมประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation: MLC) ครั้งที่ 9 ด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2567 ที่ จ.เชียงใหม่ โดยจะเน้นย้ำความมุ่งมั่นใจการปราบปรามปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกัน 

ขณะที่ นายมาริษ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งการลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้หมดไปได้ เพราะจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลของกัมพูชา, ลาว, จีน และอินเดีย ต่างให้ความสำคัญและคำมั่นที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ไทยในฐานะประเทศศูนย์กลางในลุ่มน้ำโขง จึงพร้อมผลักดันวาระดังกล่าวร่วมกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ที่กำลังจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงสัปดาห์ที่จะถึงนี้ที่ จ.เชียงใหม่

พร้อมกันนี้ นายมาริษ ยังขอบคุณฝ่าย สปป.ลาว โดยเฉพาะ นายทองจัน มะนีไซ เจ้าแขวงบ่อแก้วคนใหม่ ที่ประกาศกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทุกกิจการภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวในทุกระดับ มั่นใจว่าฝ่ายลาวให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมาก และยืนยันว่าทางการไทยก็พร้อมร่วมมือกับ สปป.ลาว ในระดับพื้นที่ด้วยเช่นกัน 

...

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมกำหนดการในห้วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 ที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ โดยนายกรัฐมนตรีจะมีการกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “Towards Safer and Cleaner Mekong Lancang” และจะมีการแถลงข่าวร่วมกัน (Joint Press Conference) หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศประจำพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน 

สำหรับกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่ริเริ่มโดยประเทศไทย ในปี 2555 เพื่อพัฒนากรอบความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง เน้นให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมกระบวนการพัฒนาอาเซียน.