ปัญหาการทุจริตภาครัฐเป็นมะเร็งร้ายที่เกาะกินสังคมไทยมาช้านาน หลายรัฐบาลประกาศวาระแห่งชาติปราบปรามการทุจริตให้สิ้นซาก สุดท้ายเป็นแค่ลมปาก เรามีหลายหน่วยงานจับโกง แต่การคอร์รัปชันกลับขยายวงกว้างขึ้น หากยังปล่อยปัญหาหมักหมมอยู่เช่นนี้ ประเทศไทยจะไม่มีวันเข้มแข็งผงาดขึ้นมาได้

วันนี้ผมมีแนวทางขจัดคอร์รัปชันมาเล่าสู่กันฟัง มาจากเอกสารวิชาการเรื่อง “ข้อเสนอและแนวทางพัฒนานวัตกรรมในการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการป้องกันการทุจริตภาครัฐ ในยุค Digital Disruption” จัดทำโดย ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 15 ซึ่งได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากทั้งในไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง สหภาพยุโรป นำมาวิเคราะห์ประมวลผล

นยปส.รุ่นที่ 15 เสนอว่าจะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อปฏิรูปการแก้ปัญหาทุจริตในภาครัฐอย่างยั่งยืน

เริ่มจาก ปลูกจิตสำนึกภาคประชาชนตั้งแต่เยาวชน ใช้แคมเปญ “เด็กดีบอกต่อ ไทยไม่ทนคนโกงชาติ” ปลูกฝังค่านิยมและจริยธรรมที่ดีงาม ให้เยาวชนมีจิตสำนึกต่อต้านการทุจริต พัฒนาทักษะภาวะผู้นำให้เยาวชนเป็นผู้นำขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริต ส่งเสริมทักษะ การคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างมีคุณธรรม สร้างเครือข่ายเยาวชนในการเฝ้าระวังและรายงานการทุจริต

โครงการต้นแบบที่น่าสนใจของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดรับสมัครบุคคลเข้า โครงการเด็กดีมีที่เรียน ในคณะศึกษาศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์ เริ่มตั้งแต่กระบวนการสอบ TCAS รอบที่ 1 โดยให้จัดทำผลงาน (Portfolio) เพิ่มเติม ในหัวข้อ “คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” โดยมีเอกสาร เกียรติบัตร รางวัล หรือชิ้นงานเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตเพิ่มเติมจากคุณสมบัติปัจจุบัน

...

เยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกผ่านจากโครงการเด็กดีมีที่เรียนจะได้รับเชิญให้เข้าชมรม Strong จิตพอเพียงสาธารณะของมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ เป็นการคัดเยาวชนต้นแบบที่มีจิตใจต้านการทุจริต เพื่อ
เป็นศูนย์กลางการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เยาวชนต้นแบบจะได้รับการอบรมความรู้ด้านการป้องกันและต่อต้านการทุจริต เพื่อขยายเครือข่าย Wacth & Voice ในระบบพี่เลี้ยงร่วมกับ ป.ป.ช. พร้อมกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาครัฐ และเอกชน

นอกจากปลูกฝังจิตสำนึกต้านโกงภาคประชาชน ต้องปรับปรุงกฎหมายควบคู่ไปด้วย เพื่ออุดช่องว่างระบบการยื่นบัญชีทรัพย์สินและลดโอกาสการทุจริตในอนาคต

ประเทศไทยมีข้าราชการ 3.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ถูกกำหนดให้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพียง 38,099 คน คิดเป็น 1.09% เท่านั้น เงื่อนไขหนึ่งเป็นเพราะรูปแบบการยื่นบัญชีทรัพย์สินค่อนข้างยุ่งยาก และมีหลายตำแหน่ง มิได้ถูกกำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินตั้งแต่วันที่บรรจุเข้ารับราชการ แต่ถูกกำหนดให้ยื่นเมื่อผ่านเวลาไปแล้ว 20-30 ปี ทำให้เกิดช่องว่างในการเปรียบเทียบบัญชี จุดอ่อนนี้สามารถแก้ไขได้ด้วย
การกำหนดให้ข้าราชการทุกคนแจ้งข้อมูลทรัพย์สิน 2 ระยะคือ

ระยะที่ 1 ครั้งแรกที่บรรจุเข้ารับราชการ กำหนดให้แจ้งข้อมูลทรัพย์สินเฉพาะที่สำคัญ เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เลขที่บัญชีธนาคาร อัญมณี ทองคำ หรือหนี้สินเฉพาะที่มีหลักฐาน โดยกำหนดให้ยื่นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเปรียบเทียบบัญชีในอนาคต

ระยะที่ 2 กำหนดให้รายงานทรัพย์สิน รายรับ รายได้ ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง โดยกำหนดมูลค่าขั้นต่ำ เช่น มูลค่าเกิน 50,000 บาทขึ้นไป หากไม่รายงานถือว่ามีความผิด และเป็นเหตุให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินได้

การทุจริตคอร์รัปชันมักอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ฉะนั้นควรแก้ไขกฎหมายให้รัดกุม จัดระบบฐานข้อมูลให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน จะทำให้การตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพ การทุจริตยากขึ้น แต่ง่ายต่อการตรวจสอบ พรุ่งนี้มาคุยกันต่อถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยปราบโกง.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม