ย้อนจุดเริ่มต้นพรรคก้าวไกล บนเส้นทางที่ไม่ง่าย สานต่อ DNA พรรคอนาคตใหม่ สู่พรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้ง 2566 แต่กลับไม่ได้เป็นรัฐบาล กระทั่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค

จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 น. นัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคําร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 

กกต. จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งยุบพรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง

...

กระทั่งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หากคู่กรณีประสงค์จะแถลงการณ์ปิดคดีให้ยื่นเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 67 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 24 ภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ส่วนคำร้องที่คู่กรณียื่น ให้รับรวมไว้ในสำนวนคดีเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป (อ่าน : ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ นัดลงมติ คดียุบพรรคก้าวไกล 7 ส.ค. 2567)

เส้นทาง “ก้าวไกล” เริ่มต้นหลัง “อนาคตใหม่” ถูกยุบ

21 กุมภาพันธ์ 2563

เมื่อย้อนกลับไปดูเส้นทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ซึ่งเริ่มขึ้นหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ในขณะนั้นมี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ในวันเดียวกันนั้น นายธนาธร พร้อมด้วย สส. และสมาชิกพรรค ร่วมกันแถลงข่าว พร้อมประกาศส่งไม้ต่อให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เตรียมเป็นผู้นำทัพคนใหม่ (อ่าน : คำวินิจฉัยฉบับเต็ม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ยุบพรรคอนาคตใหม่) ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่เหลืออยู่ 65 คน มีเวลา 60 วันนับจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ในการหาพรรคสังกัดใหม่เพื่อไม่ให้ขาดสมาชิกภาพ สส. โดยในขณะนั้นมี สส.บางส่วน ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นในขั้วรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่ไปต่อกับพรรคการเมืองใหม่ที่จะย้ายไปด้วยกัน

8 มีนาคม 2563

ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2563 มีการแถลงเปิดตัวพรรคใหม่อย่างเป็นทางการ โดย นายพิธา นำ 55 สส. ร่วมแถลงข่าวการย้ายไปเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหม่ พร้อมประกาศอย่างเป็นทางการว่าเราจะย้ายไปพรรคใหม่ด้วยกัน และพรรคที่จะย้ายไปอยู่คือ “พรรคก้าวไกล” รวมถึงย้ำในเรื่องการสานต่ออุดมการณ์และภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ ยืนอยู่ข้างประชาชน ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และผลักดันวาระนโยบายที่ก้าวหน้าต่อไป ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล มีชื่อก่อนหน้าคือ พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย และพรรคผึ้งหลวง (อ่าน : ไม่หวั่นโดนคดีซ้ำรอย พิธา นำเปิดตัวพรรคก้าวไกล กร้าว หัวใจเดิม)

14 มีนาคม 2563

วันที่ 14 มีนาคม 2563 นายพิธา นำทีม สส. เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ไปเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น ต่อมามีการเปิดตัวโลโก้ของพรรค และเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เป็นโลโก้ใหม่ในแฟนเพจเฟซบุ๊กพรรค พร้อมความหมายว่า “ก้าวไกล” สื่อถึงการขับเคลื่อนไปข้างหน้าสู่อนาคต โดยเครื่องหมายพรรคมีลักษณะเป็นหัวลูกศรสีส้ม หมายถึง หัวลูกศรที่พร้อมพุ่งไปยังเป้าหมายที่อยู่ข้างหน้า ส่วนกับสีส้ม หมายถึง “แสงสว่างแห่งรุ่งอรุณ” และผลการประชุมพิจารณาเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ นายพิธา ได้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ส่วน นายชัยธวัช ตุลาธน เป็นเลขาธิการพรรค และมี นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล, นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์, นายณัฐวุฒิ บัวประทุม และ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ เป็นรองหัวหน้าพรรค (อ่าน : ไม่ผิดคาด “ทิม พิธา” นั่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมเปิดตัวโลโก้ใหม่)

10 กุมภาพันธ์ 2564

ทั้งนี้ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 พรรคก้าวไกล ได้เสนอชุดร่างกฎหมาย 5 ฉบับ ต่อสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งในนั้นคือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 นายชัยธวัช นำทีมแถลงที่รัฐสภาว่า การเสนอร่างกฎหมายนี้จะทำให้ความตึงเครียดในสังคมลดลง สามารถยืดหยุ่นหรือแก้ไขให้สอดคล้องสภาพความผิด หรือไม่ใช่ให้ใครก็ได้ไปแจ้งความ ถ้าหากทำสำเร็จ ปัญหาทางการเมืองที่เกิดจากมาตรา 112 จะลดลง และจะไม่กระทบต่อสถาบัน พรรคก้าวไกลเสนอไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อหาตรงกลางที่เชื่อว่าจะสามารถคุยกันได้ และใช้เวทีสภาฯ ให้ดีที่สุด พูดคุยถึงความแตกต่างทางการเมือง แต่ถ้าสภาฯ ไม่เปิดให้คุยถึงปัญหาที่แหลมคมก็จะไม่นำไปสู่แก้ไขและจะนำไปสู่การยกเลิกในอนาคต (อ่าน : ก้าวไกลย้ำจุดยืน ดันร่างแก้ ม.112 เข้าสภาฯ หาข้อยุติคลายขัดแย้งในสังคม)

15 ตุลาคม 2565

ภายหลังการนำพรรคโดย นายพิธา ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2565 ก่อนเข้าสู่สนามการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2566 นายพิธา แถลงนโยบายชุดแรกของพรรคก้าวไกล เป็นบ้านนโยบายที่ชื่อว่าไทยก้าวหน้า มีเป้าหมายคือการสร้างประเทศไทยที่ก้าวหน้าใน 9 ประเด็น โดยในหมวดศาลและกระบวนการยุติธรรม จะมีการแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ กฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งร่างแก้ไขกฎหมาย 112 ที่สภาไม่ยอมบรรจุเข้าวาระ โดยอ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่พรรคก้าวไกลยืนยันจะเดินหน้าผลักดันต่อไปหากได้เป็นรัฐบาล และย้ำว่าการแก้ 112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้กระทบต่อพระราชสถานะองค์พระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขของประเทศ

โปรดเกล้าฯ ยุบสภา เลือกตั้ง 2566

20 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 (อ่าน : ในหลวง โปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร 2566) ซึ่งในวันเดียวกัน พรรคก้าวไกล ประกาศ 300 นโยบายรัฐบาลก้าวไกล ที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้ไม่เหมือนเดิม ครอบคลุมทั้ง 9 เสานโยบาย แสดงถึงความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งใหม่ (อ่าน : นโยบายก้าวไกล 300 ข้อ)


14 พฤษภาคม 2566

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกล มาแรงเกินคาด มีคะแนนผลการเลือกตั้งและจำนวน สส.มากที่สุด จึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ขณะนั้นพรรคก้าวไกล ประกาศจับมือกับพรรคเพื่อไทย และมีการลงนาม MOU ร่วมกันกับอีก 6 พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 (อ่าน : “พิธา” นำ 8 พรรคการเมือง ลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล 313 เสียงแล้ว)


30 พฤษภาคม 2566

จุดเริ่มต้นของคดียุบพรรค เนื่องจากเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ว่าการกระทำของ นายพิธา และพรรคก้าวไกลดังกล่าว เข้าข่ายปฏิปักษ์ต่อการปกครอง เพื่อขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำของ นายพิธา และพรรคก้าวไกล

16 มิถุนายน 2566

และต่อมาในวันที่ 16 มิถุนายน 2566 นายธีรยุทธ ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยสั่งให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

12 กรกฎาคม 2566

ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง พร้อมกับให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน และต่อมามีการนัดฟังคำวินิจฉัย วันที่ 31 มกราคม 2567 ในระหว่างนี้ นายพิธา ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จากกรณีที่ กกต. ร้องให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ สส. ในประเด็นถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 (อ่าน : ด่วน ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องหุ้นสื่อ “พิธา” พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ทันที) ทำให้ นายพิธา ลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวันที่ 16 กันยายน 2566


21 กรกฎาคม 2566

เมื่อไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อให้กับพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดย นายชัยธวัช แถลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ทุกอย่างชี้ชัดว่า ทุกองคาพยพของฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งการเมืองจารีต ทุนผูกขาด และสถาบันองค์กรต่างๆ ที่เป็นบริวารแวดล้อม ไม่ยอมให้ก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเอาเรื่อง ม.112 มาบังหน้า และอ้างความจงรักภักดีมาปะทะกับการเลือกตั้งของประชาชน (อ่าน : ยอมถอย พรรคก้าวไกล เปิดทางให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาล ชงชื่อแคนดิเดตเพื่อไทยประชุมครั้งหน้า) ซึ่งต่อมาพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และที่ประชุม สส. และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โหวตเลือก นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่

ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2566 พรรคก้าวไกล มีการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคก้าวไกล วาระสำคัญคือการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ภายหลัง นายพิธา ลาออกจากหัวหน้าพรรค โดยที่ประชุมมีมติเลือก นายชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ขณะที่ นายพิธา เป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (อ่าน : ก้าวไกล เคาะ “ชัยธวัช” หัวหน้าพรรค “พิธา” นั่งที่ปรึกษา “อภิชาติ” เลขาฯ-“ไอติม” โฆษก)

24 มกราคม 2567

จากนั้นในวันที่ 24 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยคดี นายพิธา ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ว่า ไม่เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลง เนื่องจากเลิกกิจการไปแล้ว จึงไม่มีสถานะเป็นสื่อ ส่งผลให้ นายพิธา ได้กลับเข้าไปทำหน้าที่ สส.ในสภาฯ ต่อ (อ่าน : ศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 8-1 “พิธา” รอด! ได้ทำหน้าที่ สส.ต่อ)

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

31 มกราคม 2567

กระทั่งวันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) และพรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขมาตรา 112 พร้อมทั้งรณรงค์และนำไปหาเสียงเลือกตั้ง สส. เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พร้อมสั่งให้ยุติการกระทำทุกอย่างเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 รวมทั้งเตือนทุกฝ่ายอย่าละเมิดอำนาจศาล (อ่าน : เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ “พิธา-ก้าวไกล” ล้มล้างการปกครอง

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นายธีรยุทธ เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกับ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ขอให้ กกต. พิจารณาส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญให้มีการยุบพรรคก้าวไกล ในเวลาต่อมา วันที่ 12 มีนาคม 2567 กกต. มีมติโดยเอกฉันท์ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล พร้อมตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเป็นมติเอกฉันท์ และ กกต. มีการแถลงข่าวในวันที่ 13 มีนาคม 2567 (อ่าน : แจงยื่นยุบพรรคก้าวไกล กกต. ชี้หลักฐานชัด ไม่ข้ามขั้นตอน หากไม่ทำจะมีความผิด)

 

กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคก้าวไกล

วันที่ 18 มีนาคม 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งได้รับมอบหมายจาก กกต. ให้เป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทน กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว โดยเป็นการยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อ่าน : กกต.ยื่น ยุบก้าวไกล-ตัดสิทธิ์ กก.บริหารพรรค ต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว)

3 เมษายน 2567

จนวันที่ 3 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของ กกต. โดยให้ผู้ถูกร้องส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง และต่อมามีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตามที่พรรคก้าวไกลขอ รวม 3 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน

29 พฤษภาคม 2567

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีที่ นายธรณิศ มั่นศรี (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า กกต. (ผู้ถูกร้อง) ละเลยให้พรรคก้าวไกลนำประเด็นการแก้ไข มาตรา 112 มาใช้หาเสียงเลือกตั้ง การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เสมือนหนึ่งเป็นการสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลกระทำผิดในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย (อ่าน : ศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้อง กกต.ให้ ก้าวไกล ใช้ ม.112 หาเสียงล้มล้างการปกครอง)

17 กรกฎาคม 2567

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 น. และนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 15.00 น. เป็นต้นไป 

2 สิงหาคม 2567

นายชัยธวัช และ นายพิธา ร่วมกันแถลงข่าวปิดคดียุบพรรคก้าวไกล ทั้งข้อต่อสู้ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมถึงหลักการและเจตนารมณ์ของพรรคก้าวไกล ในการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยแถลงถึงข้อต่อสู้ทางกฎหมายทั้ง 9 ข้อ ของพรรคก้าวไกล โดยในช่วงหนึ่งระบุว่า ในอดีตเคยมีข้อเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยนำไปสู่การล้มล้างการปกครองหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองแต่อย่างใด และกรณีการเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ตลอดจนการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้หาเสียง เป็นเพียงการนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ต่อไป อีกทั้ง แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 แต่คดีดังกล่าวเป็นการพิจารณาวินิจฉัยให้ผู้ถูกร้องเลิกกระทำการดังกล่าว จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งยุบพรรคอีกต่อไป (อ่าน : ก้าวไกล ยก 9 ข้อ แถลงปิดคดียุบพรรค ชี้ ศาล รธน. ไม่มีอำนาจวินิจฉัย)

7 สิงหาคม 2567

ล่าสุดวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งอ่านคำวินิจฉัยคดีพรรคก้าวไกล ในเวลา 15.00 น. โดยมีผลสรุปว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติสั่งยุบพรรคการเมือง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค ชุดที่ 1 และ 2 ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 - 31 มกราคม 2567 เป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมือง พร้อมห้ามกรรมการบริหารพรรคชุดดังกล่าว ไปจดทะเบียนหรือมีส่วนรวมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก เป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค (อ่าน : เปิดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม มติศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล 8 ต่อ 1)

ทางด้านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังทราบผลยุบพรรค นายชัยธวัช แจ้งว่า ตนและกรรมการบริหารพรรค คือ นายอภิชาติ สิริสุนทร, น.ส.เบญจา แสงจันทร์, นายสุเทพ อู่อ้น และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คงไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรได้อีกต่อไปหลังจากนี้ ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่พวกผมได้ใช้ช่วงระยะเวลาในฐานะผู้แทนราษฎรในการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันสิ่งที่เราคิดว่าเป็นอนาคตของประเทศ พร้อมฝากเพื่อนสมาชิกที่เหลือทำหน้าที่ต่อ

ขณะที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม กล่าวว่า ตนเองเป็นหนึ่งในรายชื่อกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เมื่อปี 2566 ดังนั้นสภาพการเป็น สส. จึงต้องสิ้นสุดเช่นกัน พร้อมขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ทำงานร่วมกับทุกคน และย้ำในตอนท้าย่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน (อ่าน : “ชัยธวัช” บอกลาสภา แจ้ง 5 คนรวม “พิธา” สิ้นสมาชิกภาพ สส. “หมออ๋อง” กล่าวลาด้วย)