วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรรคก้าวไกล ห่วงท่าที "คารม" ใช้ช่องทางรัฐบาล วิจารณ์ปมคดียุบพรรคก้าวไกล มอง ชี้นำ-กดดันศาลรัฐธรรมนูญ จี้ "เศรษฐา" ชี้แจง ลั่นฝ่ายบริหารไม่ควรยุ่งกับองค์กรอิสระ

วันที่ 5 ส.ค. 2567 ณ อาคารรณนภากาศ กองทัพอากาศ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์วิจารณ์ปมคดียุบพรรคก้าวไกล ว่า พรรคก้าวไกล เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่กังวลท่าทีของ นายคารม รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี มากกว่า และคิดว่าเป็นข่าวไม่จริง จนกระทั่งไปพบข่าวนี้ใน เว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ช่องทางในการเผยแพร่ข่าวของรัฐบาล มันหมายความว่า การพูดของบุคคลท่านนั้นพูดในนามรองโฆษก หรือ กองโฆษกของรัฐบาล และหากลองฟัง ที่ไหนคารมให้สัมภาษณ์มีลักษณะชี้นำและข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญไม่กล้ายุบพรรค พร้อมกับเขียนถึงเงื่อนไขหลายข้อ

นายวิโรจน์ มองว่าการกระทำแบบนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณา ว่าเข้าข่ายการชี้นำศาล หรือกดดันศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งคนที่จะต้องออกมาตอบคำถามนี้คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า อนุญาตให้กองโฆษกออกมาให้ข่าวในลักษณะที่อาจทำให้สังคมเข้าใจได้ว่าเป็นการสร้างเงื่อนไข ชี้นำ และข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพราะเวลาที่ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวมักจะพูดถึงข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และแนวทางการสู้คดี แต่ไม่เคยมีการชี้นำศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการชี้นำศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่ 2 องค์ประกอบหลัก คือ ต้องตัดสินแบบนี้ หรือหากศาลรัฐธรรมนูญไม่ตัดสินแบบนี้ จะต้องเจอแบบนี้ ซึ่งคำพูดเหล่านี้ไม่เคยออกมาจากปากใครของพรรคก้าวไกล เพราะฉะนั้นคนที่ต้องออกมาตอบคำถามนี้ คือ นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี

...

เมื่อถามต่อว่า การกระทำลักษณะนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าการยุบพรรคก้าวไกลเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ นายวิโรจน์ ตอบว่า ก็คิดแบบนั้นได้ แต่ขอวิงวอนให้ นายเศรษฐา ได้ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ เพราะข่าวดังกล่าวไม่ได้เกิดมาจากสำนักข่าวต่างๆ แต่มาจากเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นการใช้กองโฆษกของรัฐบาลมาสื่อสาร เป็นลักษณะที่ประชาชนอาจจะเข้าใจได้ว่าเป็นการชี้นำ กดดัน สร้างเงื่อนไขให้กับศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่าอำนาจบริหารไม่ควรก้าวก่ายองค์กรอิสระ

ส่วนข้อกล่าวหาที่ถูกมองว่าดึงต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวในกระบวนการ นายวิโรจน์ ถึงกับร้องโอ้โห ก่อนกล่าวว่า ขอตั้งคำถามว่า หากจะปิดไม่ให้มีการสื่อสารกับองค์กรสากลใดๆ เลยนั้น อยากจะปิดประเทศกันหรือไม่ บอกว่าควรให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่สื่อสาร หากเนื้อหาที่สื่อสารเป็นเนื้อหาที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะกลัวอะไร ย้ำว่า ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศเปิด โอลิมปิกยังส่งนักกีฬาไปแข่งขันเลย วันนี้จะปิดประเทศแล้วหรือ เพราะฉะนั้นการสื่อสารกับองค์กรสากล สถานทูต เนื้อหาที่สื่อสารนั้นมีความถูกต้องชอบธรรมตามหลักกฎหมายไทย และตามหลักกฎหมายสากล ไม่เห็นมีตรงไหนที่จะต้องน่ากังวล เพราะนายกรัฐมนตรีก็เดินสายอยู่บ่อยๆ.