ก.มหาดไทย กำชับทุกจังหวัด สนับสนุนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ ก.พาณิชย์ ต่อเนื่อง 3 เดือน เริ่ม ส.ค.-ต.ค. 67 เตรียมความพร้อมดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมสั่งรายงานทุกวันที่ 15 ของเดือน

วันที่ 5 สิงหาคม 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สนับสนุนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ ในระยะ 3 เดือน ตั้งแต่สิงหาคม-ตุลาคม 2567 เพื่อเสริมสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน โดยให้ความสำคัญกับสินค้าชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นลำดับแรก

ปลัดกระทรวงมหาดไทย เผยต่อว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งให้การสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มในทุกมิติ ซึ่งการประชุมหารือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือแนวทางการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

เป้าหมายของโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ คือ 

1. การลดรายจ่ายผู้ประกอบการรายเล็ก 

2. เพิ่มช่องทางค้าขาย 

3. ลดภาระค่าครองชีพ

4. กระตุ้นเม็ดเงินให้หมุนเวียนในเศรษฐกิจ 

...

โดยมีกรอบระยะเวลาในการจัดแคมเปญตั้งแต่สิงหาคม-ตุลาคม 2567 รวมถึงเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กและประชาชน สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือทุกภาคีเครือข่ายบูรณาการผ่านกลไกในระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการสนับสนุนโครงการดังกล่าว

พร้อมกันนี้ นายสุทธิพงษ์ เน้นย้ำว่า นายอนุทิน ยังมีข้อสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สนับสนุนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ โดยดำเนินการดังนี้ 

1. อำนวยการและกำกับการดำเนินโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ ของพื้นที่ในภาพรวม โดยให้ความสำคัญกับสินค้าชุมชน ผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นลำดับแรก เพื่อเป็นการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

2. สนับสนุนพื้นที่จำหน่ายสินค้า เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สถานที่ของทางราชการ หน่วยงานทหาร หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ สถานที่ที่เหมาะสมในการจัดตลาดพาณิชย์ ทั้งนี้ มีข้อพึงระวังในการไม่นำตลาดเร่ คาราวานตลาดนัด ไปแข่งขันในตลาดท้องถิ่น ยกเว้นสินค้าจากเกษตรกร หรือ กลุ่มผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) 

3. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบผ่านผู้นำชุมชน ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และอื่นๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก และสามารถลดค่าครองชีพของประชาชนได้ 

4. ให้ประสานงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการดำเนินกิจการตลาดพิจารณาลดต้นทุนผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถได้ของในราคาถูกลง และกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้าในการขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย จึงกำชับให้ทุกจังหวัดรายงานผลการดำเนินการให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกวันที่ 15 ของเดือน จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ ครั้งแรกวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ขณะเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยยังสั่งการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์การตลาด ให้พิจารณาลดค่าเช่าร้าน/ค่าเช่าแผง ลดต้นทุนผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาถูก หรือจัดแคมเปญลดราคาช่วยค่าครองชีพ และกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 

“กระทรวงมหาดไทยส่งเสริมแนวทางการลดรายจ่ายในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมให้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งกำหนดมาตรการและแนวทางเพื่อเพิ่มรายได้ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่น (OTOP) สู่การส่งออกสินค้าเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Economy) จึงเป็นหน้าที่สำคัญของเราชาวมหาดไทยที่จะช่วยสนับสนุนให้โครงการของรัฐบาล ได้ส่งผลต่อประชาชน บรรลุเป้าหมายสูงสุดคือการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน”