"จุลพันธ์" รมช.คลัง ยัน "ดิจิทัลวอลเล็ต" ตามกรอบกฎหมาย ชี้ ตัวเลข GDP แค่คาดการณ์ เหตุไม่เคยมีโมเดลไหนทำมาก่อน ระบุ ขึ้นอยู่กับการใช้เงินของประชาชน ลั่น ไม่มีโครงการไหนเป็นยาวิเศษแก้เศรษฐกิจเชิงโครงสร้างของไทยทั้งหมด

วันที่ 31 ก.ค. 2567 อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 9 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก อภิปรายว่า แนวความคิดทางเศรษฐกิจ อาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องธรรมดา อ่านหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์เมื่ออ่านพร้อมกัน มาวิเคราะห์ ก็มีข้อถกเถียงกันเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ขณะนี้ รัฐบาลยืนยันถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาในช่วง 10 ปีก่อนที่อัตราการเจริญเติบโตตกต่ำ จนขณะนี้เจริญเติบโตในระดับต่ำสุดของภูมิภาค จึงยืนยันถึงความจำเป็นของการมีเม็ดเงินเติมลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนตัวเลขที่คณะกรรมการหลายท่านอ้างขึ้นมา เป็นตัวเลขที่รัฐบาลตระหนัก และดูอย่างใกล้ชิด สัดส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้รัฐ ยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่มีตัวเลขใดที่สุ่มเสี่ยงจะทะลุเกินจะผิดพลาดไปตามกลไกที่เราตรากฎหมายกำกับไว้ ซึ่งก็รับทราบ เพราะมีหน่วยงานรัฐมาชี้แจงในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ว่าขณะนี้ การประมาณการไปข้างหน้าอีกหลายปี ไม่มีกรอบว่าตัวเลขใดจะเป็นปัญหา รัฐบาลยืนยันว่า ทำไปด้วยความรอบคอบ และจะไม่ให้มีปัญหาวิกฤติใดๆ เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

...

ส่วนของโครงการนี้คือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้เราโตต่ำ โดยในปีนี้ด้วยการผลักดันตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งการเปิดฟรีวีซ่า เสริมความง่ายในการดำเนินธุรกิจ ตัวเลขในไตรมาส 2 โตจากไตรมาส 1 ขึ้นมา ด้วยการเร่งเครื่องของรัฐบาล และประกอบกับนโยบายที่เติมลงไป และการเติมเงิน 10,000 บาท เชื่อมั่นว่า จะดึงการเจริญเติบโตไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมคือ 4-5% ให้ได้ หากทำได้เช่นนั้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นตัวหารของหนี้ต่างๆ ซึ่งหากเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐ ตัวเลขที่กังวลว่าจะไปเกิน หรือไปปริ่ม ก็จะสามารถแก้เรื่องนี้ได้

ประเด็นแรก การแสดงความห่วงใยด้านการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย เกือบทุกท่านใช้คำว่าสุ่มเสี่ยง ซึ่งใจความหนึ่ง ก็หมายความว่ายังอยู่ในกรอบกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ โดยหน่วยงานได้มาชี้แจงในทุกประเด็นแล้ว ซึ่งประเด็นที่มีการอภิปรายมากที่สุดคือการใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ที่อาจมีการเบิกจ่ายในไตรมาส 4 จะสอดคล้องกับกฎหมายหรือไม่

ตามมาตรามาตรา 21 ของกรอบวินัยการเงินการคลัง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้เงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายปีถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงิน

พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณมาตรา 4 กำหนดคำว่าหนี้ คือ ข้อผูกพันที่จะต้องจ่าย อาจจะต้องจ่ายเป็นเงิน สิ่งของ หรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นข้อผูกพันที่เกิดจากการกู้ยืม ค้ำประกัน การซื้อ หรือการจ้าง โดยใช้เครดิต หรือการอื่นใด ดังนั้น การก่อหนี้ผูกพันจึงไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะกรณีมีข้อผูกพันที่ต้องจ่ายเป็นที่แน่นอนแล้วเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงข้อผูกพันที่อาจทำให้ต้องจ่ายด้วย ซึ่งการดำเนินการโครงการของรัฐ อาจมีการทำสัญญากับประชาชนโดยตรง แต่ดำเนินการผ่านแผนงาน หรือโครงการประกอบกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณมาตรา 40 กำหนดให้การจ่ายเงิน หรือก่อหนี้ผูกพันของหน่วยงบประมาณ ต้องเป็นไปตามแผนการบริหารงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ดังนั้น การที่รัฐบาลทำโครงการนี้ ให้ประชาชนลงทะเบียน โดยมีการยืนยันตัวตนของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ก็เป็นข้อผูกพันที่ต้องจ่ายตามกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของหนี้ โดยในการชี้แจง ได้บอกชัดเจนในคณะกรรมาธิการว่าเป็นการเสนอ และสนอง เมื่อประชาชนกดปุ่มขอใช้สิทธิ์ ก็เสนอกับรัฐ เมื่อรัฐยืนยันสิทธิ์ คือการสนองตอบตามข้อสัญญา ก็มีนิติกรรมร่วมกันระหว่างประชาชนกับรัฐ เช่นเดียวกับโครงการในอดีตของรัฐบาล

สำหรับการขอเบิกจากคลัง หรืองบประมาณตามกฎหมายด้วยวิธีการงบประมาณตามมาตรา 43 กรณีเบิกเบิกจ่ายงบประมาณไม่ทัน หน่วยงานรับงบประมาณสามารถขอขยายเวลาการขอเบิกเงินจากคลังได้ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 และเมื่อลงทะเบียนยืนยันตัวตนของประชาชนกลุ่มเป้าหมายแล้ว ถือเป็นข้อผูกพันที่นำไปสู่กระบวนการการใช้จ่าย และเบิกจ่ายงบประมาณตามขั้นตอนของกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ความกังวลของท่าน กังวลได้ แต่หน่วยงานที่มาชี้แจงยืนยันทั้ง 8 หน่วยงาน ชี้แจงอย่างมีความชัดเจนว่าทั้งหมดเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ ซึ่งย้อนแย้งต่อการสงวนความเห็นของท่านด้วย หากเสนอลด 10,000 ล้านบาท สุดท้ายก็ต้องไปดำเนินการในโครงการเดียวกันในไตรมาส 4 อยู่ดี ก็ย้อนแย้งกันเองสิ่งที่ส่งความเห็นเอาไว้” นายจุลพันธ์ กล่าว

ส่วนการประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังยืนยันตัวเลข 1.2-1.8% ในการขยายตัวของจีดีพี โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นการแถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาสปัจจุบัน การพิจารณาตัวเลขของเรานั้น ยังมีคำห้อยท้ายที่ต้องพูดให้ชัดเจนว่า ตัวเลขนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ และพฤติกรรมของผู้ใช้สิทธิ์ ถือเป็นการประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจว่าเจริญเติบโตเท่าไร และขณะนี้ไม่มีโมเดลไหนที่สามารถรองรับผลของโครงการนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะไม่เคยมีโครงการใดในประเทศไทย ที่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้ระยะทาง พื้นที่ กรอบการใช้สองรอบ ดังนั้น อาจไม่มีตัวเลขที่ชี้เฉพาะให้เกิดความมั่นใจ เอาแค่การใช้จ่ายบาทสุดท้ายก็ยังใช้สมมติฐานที่แตกต่างกันในแต่ละหน่วยงาน

นายจุลพันธ์ ระบุว่า ผลกระทบอีกมากมายคือเม็ดเงินที่ลงไปสร้างกำลังให้กับพี่น้องประชาชน ร่วมเป็นกลไกของรัฐ ในการมีกำลังหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 50 ล้านคน ถือเป็นผลดีที่จะเกิดขึ้น ส่วนมิติอื่น เรื่องการพัฒนาระบบที่มารองรับ เราจะสร้างระบบใหม่ e-Government ที่ทำให้ธุรกรรมทางรัฐเทียบเท่ากับการที่ประชาชนไปติดต่อกับหน่วยงานรัฐโดยตรง การเตรียมเอกสารจะลดลงอย่างมหาศาล เราจะมีข้อมูลทั้งหมดทำให้สามารถมีนโยบายได้ตรงเป้า ไม่ใช่เน้นแค่เงินสด แต่ให้เฉพาะค่าโดยสาร ค่าพลังงาน เพื่อออกแบบนโยบายตรงเป้า รวมถึงการลดการทุจริตคอร์รัปชัน

ประเด็นเรื่องการกระจุกตัว ระบบบล็อกเชนจะเป็นตัวเก็บข้อมูลทุกอย่าง จะเห็นการไหลเวียนอย่างแท้จริงของระบบเศรษฐกิจไทย ว่าเม็ดเงินไหลไปทางไหนบ้าง และในที่สุดจะเป็นประโยชน์กับรัฐในการกำหนดนโยบายในอนาคต รวมถึงการกำหนดสินค้าที่ไม่สามารถซื้อได้ ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจหลายรอบ

"อย่าคิดว่าโครงการใดโครงการหนึ่งของรัฐจะเป็นยาวิเศษ ที่จะสามารถปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมได้ ผมก็ไม่ได้ยืนยันว่าดิจิทัลวอลเล็ต เป็นยาวิเศษที่จะทำได้ขนาดนั้น แต่อย่างน้อย ด้วยกลไกที่เราทำ ด้วยข้อมูลที่เราเก็บ เราจะสามารถเห็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย และสามารถกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ในอนาคต" นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ ยังยกตัวอย่าง โครงการผู้สูงอายุในการเติมเงินเข้าไป ซึ่งผู้สูงอายุก็เข้าร้านค้ารายใหญ่ ซึ่งเป็นร้านค้าสะดวกซื้อทั้งนั้น ก็เป็นร้านเดียวกับที่มีข้อกังวลอยู่

นายจุลพันธ์ กล่าวถึงกลุ่มเปราะบาง ยืนยันตรงกันว่า ไม่ใช่การเยียวยา แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และแอปพลิเคชันที่มีข้อกังวลอยู่นั้น ก็ยืนยันว่าทันในกรอบเวลาไตรมาส 4 ปีนี้ ดังนั้น ต้องให้ความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำได้ทัน หากเป็นห่วงว่าทันหรือไม่ ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้ท่านต้องสงวนความเห็นในการปรับลดงบประมาณ หากจะช้า ก็ไปออกในช่วงเดือนมกราคม หรือเดือนกุมภาพันธ์อยู่ดี