"ศรีสุวรรณ จรรยา" ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ฟ้องศาลปกครองกลาง เอาผิด "อธิบดีกรมประมง-รมว.เกษตรฯ" เหตุ ละเลยหน้าที่ปล่อยนายทุนใหญ่ทำ "ปลาหมอคางดำ" ระบาด


วันที่ 30 ก.ค. 67 เวลา 10.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ในฐานะตัวแทนชาวประมงที่เดือดร้อน ได้เดินทางมายื่นฟ้องอธิบดีกรมประมง, คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) และ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในข้อหาใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและละเลยต่อหน้าที่ ปล่อยให้นายทุนใหญ่นำปลาหมอคางดำซึ่งเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์เข้ามาในประเทศ จนเกิดการแพร่ระบาดไปทั่ว สร้างความเสียหายโดยรวมให้กับชาวประมงนับหมื่นล้านบาท ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดของชาติในขณะนี้ แต่ทั้งกรมประมง, คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) และ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ยอมเอาผิดผู้นำเข้าต้นตอของปัญหา ให้เป็นผู้รับผิดชอบ แต่กลับนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้แก้ปัญหา

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ชาวประมงที่เดือดร้อนและเสียหายจึงมาร้องขอให้องค์การรักชาติ รักแผ่นดิน ช่วยเป็นธุระอย่าปล่อยให้กรมประมงและนายทุนใหญ่ลอยนวลไปได้ องค์กรฯ จึงจะนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลออกคำบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดให้เอาผิดบิ๊กเอกชนต้นเหตุของปัญหาและให้รับผิดชอบต่อความเสียหายของชาวประมงทั้งหมด และสั่งให้นายทุนใหญ่ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่สูญหายไปให้กลับมาดังเดิมต่อไป 

นายศรีสุวรรณ กล่าวย้ำว่า กรมประมง รู้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นแต่กลับเพิกเฉยในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและรวดเร็ว โดยไม่รีบดำเนินการเอาผิดบิ๊กนายทุนใหญ่ที่นำเข้าปลาดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ มาแก้ไขปัญหาตลอดมาหลายพันหมื่นล้านบาท ทั้งๆ ที่โดยหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อม ม.97 กรมประมง สามารถฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสียหายไปได้ รวมทั้งใช้ ป.อาญา ม.360 ประกอบ ม.56 ในการฟ้องศาลอาญา เอาผิดนายทุนใหญ่ดังกล่าวได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดว่า ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ตลอดระยะเวลาที่เริ่มปรากฏการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ปี 2555 จนมีชาวประมงนำความไปร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เมื่อปี 2560 กรมประมง และพวก ก็ไม่ได้ป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและรวดเร็ว จนทำให้ปลาดังกล่าวแพร่ระบาดไปจนสุดจะควบคุมได้แล้ว การแก้ไขปัญหาทุกวันนี้เป็นเพียงปลายเหตุของปัญหาเท่านั้น

...