ในที่สุดก็ได้ฤกษ์เสียที นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจที่โตช้ามา 15 ปี ชัดเจนที่สุดคือ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นหนี้ครัวเรือนกว่า 90% ของจีดีพี ปัจจุบันนี้ใกล้ 19 ล้านล้านบาท
รัฐบาลจึงประกาศนโยบายเติมเงินดิจิทัล เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เมื่อเริ่มโครงการแล้ว จะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก จากการใช้จ่ายระหว่างประชาชน กับร้านค้าเล็ก ระหว่างร้านค้าเล็กกับร้านค้าใหญ่ ระหว่างร้านขนาดใหญ่กับร้านขนาดใหญ่
โครงการแจกเงินหมื่นบาทให้ประชาชน 50 ล้านคน ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ด้วยงบประมาณ 5 แสนล้านบาท เป็นนโยบายพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2566 มีเสียงวิจารณ์จากนักกฎหมาย อาจผิดกฎหมายเลือกตั้ง สส. มาตรา 73 (1) ที่ห้าม “สัญญาว่าจะให้” ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่น อันอาจคำนวณเป็นเงินได้
เป็นความผิดร้ายแรง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 20 ปี แต่ กกต.ฟันธงไม่ผิดกฎหมาย “สัญญาว่าจะให้” เพราะผู้สมัคร สส.ไม่ได้สัญญาว่าจะให้เงินของตน แต่จะแจกจากงบประมาณแผ่นดิน มีเสียงวิพากษ์ต่อไปว่าเป็นสัญญาจะแจกเงินภาษีประชาชน เพื่อซื้อเสียงประชาชนหรือไม่
พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าจะไม่ใช้เงินกู้มาดำเนินรายการ แต่ต้องยอมรับความจริงว่ารัฐบาลไม่มีงบเพียงพอ จึงต้องใช้วิธีการเล่นแร่แปรธาตุ เอางบปี 2567 กับงบปี 2568 มาผสมผสาน และพูดถึงเงินกู้จาก ธ.ก.ส.ด้วย ถูก น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ท้วงติงว่าการเอางบเพิ่มเติมของปี 2567 มาใช้มีปัญหา
เป็นการเอางบ 2567 ไปใช้ใน ปีงบประมาณ 2568 เป็นการใช้งบข้ามปี อาจผิดกฎหมาย คงต้องใช้งบให้หมดภายในวันที่ 30 กันยายน เพราะถ้าเลยไปถึงวันที่ 1 ตุลาคม จะเป็นปีงบประมาณ 2568 ส่วนคำสัญญาของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก จะทำให้จีดีพีโตถึงปีละ 5% ตามสัญญาหาเสียงหรือไม่
...
โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายระดับยอดมหาประชานิยม มีปัญหาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ทั้งในด้านความคุ้มค่า ความโปร่งใส ป.ป.ช.ถึงกับตั้งคณะกรรมการศึกษาความเสี่ยงในด้านการทุจริต เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าว ที่สร้างความเสียหายร้ายแรง ทั้งต่อประเทศ ประชาชน และรัฐบาล.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม