ปฏิบัติการกินรวบในการเลือกประธาน และรองประธานวุฒิสภา อาจสร้างความผิดหวังให้กับนักประชาธิปไตย ที่หวังว่าวุฒิสภาชุดใหม่เป็นสภาอิสระ ปราศจากการครอบงำของอำนาจใดๆ แต่ในที่สุด สว.ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งกันเองของกลุ่มอาชีพต่างๆ อาจจะไม่ต่างจาก สว.ชุดก่อน ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร

แม้ สว.ชุดใหม่จะไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ไม่อยู่ในอาณัติหรือการครอบงำใดๆ แต่ก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก เพราะเสียงข้างมากอาจมาจากอำนาจบารมีของพรรคการเมือง จึงเป็นไปได้ยากที่จะเป็นสภาประชาชน เป็นสภาอิสระ เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย อาจไม่ต่างกันนักกับ สว.ชุดก่อนที่มาจากการแต่งตั้ง

กลายเป็นสภาที่อยู่ใต้อาณัติ หรือการครอบงำของคณะรัฐประหาร เพื่อสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร ผ่านอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ สว.มีสิทธิเลือกผู้นำคณะรัฐประหารเป็นนายก รัฐมนตรี แม้จะมีเสียงยืนยันจากนักการเมืองบางฝ่าย ที่ค้านว่า สว.โดยชอบกฎหมาย มาตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุด และ พ.ร.ป.การเลือก สว.

ไม่มีใครเถียงว่า สว.ไม่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย นั่นก็คือรัฐธรรมนูญฉบับพิสดาร และ พ.ร.ป.การเลือก สว.ก็มีช่องโหว่ ให้อำนาจการเมืองเข้าแทรกแซง และครอบงำการเลือก สว.ได้ เปิดช่องโหว่ให้มีการฮั้วคะแนน หรือบล็อกโหวต เพราะเป็นการ “เลือกตั้ง” ที่ประชาชนไม่มีสิทธิร่วม นอกจากคนกลุ่มน้อย

มีผู้สมัครในระดับอำเภอ 4.6 หมื่นคน ลดเหลือ 2.3 เมื่อถึงระดับจังหวัด เหลือ 2,995 คน เมื่อถึงระดับประเทศ และในที่สุดสอบผ่าน 200 คน ในการแสดง วิสัยทัศน์ก่อนการเลือกประธานสภา มี สว.กลุ่มอิสระ 2 คน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยฟื้นฟูศักดิ์ศรีของวุฒิสภา ให้เป็นสภาอิสระ เป็นสภาประชาชนแท้

มีเสียงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดหลักนิติธรรม ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และยึดหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะหลักนิติธรรม ที่สำคัญที่สุด คือการยึดถือกฎหมาย เป็นเสาหลักในการปกครองประเทศ จะต้องไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้จะมีอำนาจบารมีแค่ไหน ก็ต้องอยู่ใต้กฎหมาย

...

จะต้องทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ปกครองโดยกฎหมายอย่างแท้จริง ต้องไม่ใช่การปกครองโดย “กฎหมู่” สว.แม้จะมาด้วยวิธีการใดก็ตาม จะต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก และเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ประชาชนยังมีความหวังไว้กับ สว.กลุ่มอิสระทั้งหลาย หวังว่าจะไม่ถูก “ดึงและดูด” จนสูญเสียอิสรภาพ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม