ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นข้าราชการบำเหน็จบำนาญก็ได้รับสิทธิ ถ้าเข้าเงื่อนไข 8 ข้อ ย้ำใช้ซื้อของทางออนไลน์ไม่ได้ และต้องใช้จ่ายแบบตัวต่อตัว ตามร้านค้าในเขต/อำเภอ ที่มีชื่อตามทะเบียนบ้านเท่านั้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นี้ ทางด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงถึงการลงทะเบียนรับสิทธิของประชาชนทั่วไป ว่า จะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ที่เป็นซุปเปอร์แอปฯ บนสมาร์ทโฟน โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิในโครงการฯ ประชาชนทุกคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการไว้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 45-50 ล้านคน 

ส่วนข้อสงสัยว่าจะได้รับเงินเมื่อไหร่ ทางไหน และลงทะเบียนเมื่อไหร่ ดังนี้

ผู้ที่มีสมาร์ทโฟน จะต้องลงทะเบียนผ่านแอปฯ ทางรัฐ โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ส.ค. - 15 ก.ย. 2567 ทั้งนี้จะได้รับผลแจ้งสิทธิผ่านแอปฯ ทางรัฐ เช่นกัน ในวันที่ 22 ก.ย. 2567 เป็นต้นไป แต่หากถูกปฏิเสธสิทธิ ระบบจะแจ้งสาเหตุให้ทราบว่าไม่ได้รับสิทธิเพราะอะไร โดยจะมีข้อแนะนำว่าถ้าจะอุทธรณ์สิทธิต้องทำอย่างไรต่อ

ส่วนผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด ระหว่างวันที่ 16 ก.ย. - 15 ต.ค. 2567 ขณะที่ร้านค้า เริ่มลงทะเบียน 1 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป 

โดยยืนยันว่าแม้จะเป็นข้าราชการบำเหน็จบำนาญก็ได้รับสิทธิถ้าเข้าเงื่อนไข 8 ข้อ คือ

...

1.ประชาชนต้องมีชื่อในทะเบียนบ้าน 

2.มีสัญชาติไทย

3.มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ ปิดรับลงทะเบียน คือก่อน 15 ก.ย. 2567 

4.เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาท ในปีภาษี 2566 

5.ไม่เป็นผู้มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันเกิน 500,000 บาท โดยตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ 1.เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3.เงินฝากประจำ 4.บัตรเงินฝาก 5.ใบรับเงินฝาก และ 6.ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ (1)-(5) 

ทั้งนี้ เงินฝากดังกล่าวให้หมายความถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึง เงินฝากในบัญชีร่วม และเป็นเงินฝาก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 

6.ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจาคุกในเรือนจำ

7.ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ 

8.ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ

ส่วนเงื่อนไขการใช้จ่ายดิจิทัลวอลเล็ต แบ่งเป็น ประชาชน กับ ร้านค้า โดยผู้ที่มีสมาร์ทโฟน และ ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน จะต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face)

ที่อยู่และร้านค้าต้องอยู่ในเขต/อำเภอ ตามทะเบียนบ้าน ซื้อได้เฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัว เสื้อผ้า สินค้าโอท็อป โดยจะซื้อสินค้า Negative List ไม่ได้ เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชา และน้ำกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร รวมถึงใช้ซื้อของทางออนไลน์ไม่ได้ และจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบริการอื่นๆ ไม่ได้

โดยผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนจะใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน และต้องบันทึกภาพผู้ถือบัตรทุกครั้ง ขณะที่ร้านค้ากับร้านค้า สามารถซื้อขายทางออนไลน์ได้ไม่ต้องพบหน้า และอยู่ต่างพื้นที่ก็ทำการซื้อขายกันได้ คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านร้านค้า แบ่งเป็น

-กลุ่มนิติบุคคล 910,000 ร้านค้า 

-กลุ่มร้านธงฟ้า 198,000 ร้านค้า

-กลุ่มร้านค้าโชห่วย หาบเร่ แผงลอย 400,000 ร้านค้า

-กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ 93,000 ร้านค้า

-ห้างค้าส่ง ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ 50,000 ร้านค้า

-กลุ่มผู้ผลิตห้าง ร้านค้าในห้างสรรพสินค้า 500,000 ร้านค้า

Infographic: วิมลรัตน์ จงใจพานิชเจริญ