ความยากจนของประชาชน กลายเป็นปัญหาดักดานของประเทศไทย ผลการสำรวจความเห็นคนไทยทั่วประเทศ โดยสวนดุสิตโพลครั้งล่าสุด มีกลุ่มตัวอย่างถึง 78.80% มองว่าความยากจน หนี้สิน และการเลิกจ้างงาน เป็นปัญหาที่ซ้ำซาก 79.02% อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาความยากจน 67.57% เห็นว่าควรส่งเสริมการฝึกอาชีพ

ผลการสำรวจพบด้วยว่ามีกลุ่มตัวอย่าง 79.16% อยากให้รัฐบาลสนับสนุนการสร้างงาน การลดดอกเบี้ยเงินกู้ ขยายเวลาการชำระหนี้ ในขณะที่มีปัญหาการจ้างงาน รัฐบาลควรสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อม การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ และแนวทางที่จะทำให้คนไทย “กินดี อยู่ดี ไม่มีหนี้สิน” ต้องมีงานทำ มีรายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดี

มีเสียงเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชน ผลการสำรวจของสวนดุสิตโพล มีหลายประเด็นที่ตรงกับรายงานของนายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการ และกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ระบุว่าความยากจนทำให้ประเทศติดหล่ม

รายงานของอาจารย์ระบุว่าความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เป็นปัญหาที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปจัดการ เป็นต้นตอของความยากจน และทำให้ประเทศติดหล่ม ไม่เจริญก้าวหน้า เป็นรากฐานของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันครอบครัวที่ยากจนที่สุด จบแค่ระดับประถมศึกษา มีรายได้ เพียง 1,036 บาทต่อเดือน ใต้เส้นความจน

ส่วนครอบครัวคนชั้นกลาง จบปริญญาตรี มีรายได้ 4,611–57,000 บาท ขณะที่ครอบครัวผู้ร่ำรวยที่สุด มีรายได้เดือนละ 290,000 บาท แสดงถึงความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เสมอภาคในสังคม ที่ชัดแจ้ง นักวิชาการบางคนบอกว่าความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีแค่ด้านรายได้ หรือการศึกษา แต่เหลื่อมล้ำทั้งด้านศักดิ์ศรีมนุษย์ และอำนาจการเมือง

...

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาอมตะนิรันดร และไม่มีรัฐบาลใดแก้ไขได้อย่างจริงจัง แม้แต่ปัญหาความยากจน ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เมื่อหลายปีก่อน รัฐบาลคณะหนึ่งประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” จะขจัดความยากจนให้สิ้นไป จากผืนแผ่นดินไทย ซึ่งยกย่องกันว่าเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ แต่นอกจากรัฐจะแก้ไขความยากจนไม่ได้แล้ว

ยังปล่อยให้ประชาชนยากจนหนักยิ่งกว่าเดิม รัฐบาลส่วนใหญ่ยึดนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” รัฐบาลปัจจุบันยึดมั่นนโยบายประชานิยม ลดแลกแจกแถม แต่ไม่สามารถแก้ความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ขณะนี้รัฐบาลจะแจกเงินครั้งมโหฬารที่สุด ให้ประชาชน 50 ล้านคน คนละหมื่นบาท แต่อาจเป็นแค่หาเสียง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม