นายกฯ เร่งแก้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาชญากรรมทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบ ปราบ "ซิมผี บัญชีม้า" พร้อมสั่งหน่วยงาน ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน ตัดวงจรมิจฉาชีพ ปกป้องประชาชน

วันที่ 18 ก.ค. 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการเคร่งครัดปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพทางเทคโนโลยีที่หลอกลวงประชาชนในทุกมิติ ห่วงใยความปลอดภัยประชาชน ต้องการให้เข้าถึงทุกกลลวง มุ่งยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ในประเทศไทย โดย กสทช. ทยอยระงับการใช้งานเบอร์ที่ไม่ยืนยันตัวตนแล้วกว่า 2 ล้านเลขหมาย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลกำจัดซิมผี บัญชีม้า และอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบ โดย กสทช. ได้แถลงถึงความคืบหน้าของการดำเนินมาตรการจัดการปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยสามารถดำเนินการระงับเบอร์มือถือที่ไม่มีการยืนยันตัวตนหลายล้านเลขหมาย พร้อมจัดระเบียบโมบายแบงกิ้ง (Mobile Banking) กวาดล้างผู้ลักลอบติดตั้งเสาส่งสัญญาณเถื่อนตามแนวชายแดน รวมถึงจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคมเถื่อน โดยได้มีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อดำเนินมาตรการปราบปรามอย่างเด็ดขาดและต่อเนื่อง ตัดวงจรของมิจฉาชีพ ไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อ หรือถูกแอบอ้างอีกต่อไป

...

กสทช. เปิดเผยความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการ 1) การยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ด 6-100 เลขหมาย ที่ได้ครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ทำให้ทางหน่วยงานได้ดำเนินการระงับเลขหมายที่ไม่ได้ลงทะเบียนไป 2,141,317 เลขหมาย และสำหรับกลุ่มที่มี 101 เลขหมายขึ้นไป ได้ดำเนินการระงับเลขหมายไปจำนวน 1,096,000 เลขหมาย โดยเป็นการระงับการโทรออก การส่งข้อความ และการใช้อินเทอร์เน็ต แต่ยังสามารถรับสายได้

2) ตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียนซิมการ์ด โมบายแบงกิ้ง (Mobile Banking) กับบัญชีธนาคารว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่ โดยได้ประสานงานกับธนาคารทั้ง 21 แห่ง ผ่านทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นข้อมูลจำนวน 113,568,836 บัญชี คิดเป็น 79 ล้านเลขหมาย

3) ดำเนินมาตรการกำจัด เสา สาย กระจายสัญญาณโทรคมนาคมเถื่อน โดยได้ร่วมมือกับ สตช. ในการกวาดล้างผู้ลักลอบติดตั้งเสาส่งสัญญาณเถื่อนตามแนวชายแดน ซึ่งได้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายจำนวน 29 ราย พร้อมทั้งตรวจสอบสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่และเสาสัญญาณของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตรวจสอบทิศทางการกระจายสัญญาณบริเวณชายแดน

โดยจากผลการดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัด 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอแม่สาย เชียงของ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และอำเภอเมือง จังหวัดระนอง ที่มีสถานีวิทยุคมนาคมที่ให้บริการโทรคมนาคมเข้าข่าย ซึ่งได้มีการดำเนินการระงับสัญญาณ 465 จุด ปรับทิศทางสายอากาศ 470 จุด และรื้อถอนสายอากาศ 179 จุด นอกจากนี้ ทางหน่วยงานได้มีหนังสือแจ้งพื้นที่บริเวณชายแดนที่มีความเสี่ยงเพิ่มเติมในอำเภอแม่ระมาด และพบพระ จังหวัดตาก อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์

และ 4) ได้ตรวจค้นจับกุมอุปกรณ์โทรคมนาคมเถื่อนที่ไม่ได้อนุญาตจาก กสทช. โดยได้เข้าตรวจค้นสถานที่ลักลอบจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคมเถื่อน ในเขตสวนหลวง และเขตวัฒนา สามารถตรวจยึดของกลางได้ จำนวน 18 ประเภทรายการ มากกว่า 6,000 ชิ้น รวมมูลค่าของกลางมากกว่า 12 ล้านบาท โดยจะทำการยึดของกลางและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

"นายกรัฐมนตรีควบคุมการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กำจัดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนให้หมดไป ซึ่งมาตรการดังกล่าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็นผลเป็นที่น่าพอใจ เพื่อช่วยป้องกัน ยับยั้งการหลอกลวง ไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อ ทั้งนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีนโยบายที่จะควบคุม ป้องกัน จัดการกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ตัดวงจรมิจฉาชีพ เพื่อป้องกันภัยคุกคาม และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน" นายชัย กล่าว