"จุลพันธ์" รมช.คลัง เปรียบ "ดิจิทัลวอลเล็ต" เหมือนการเติมน้ำในบ่อให้เพียงพอ ยืนยัน นโยบายเป็นประโยชน์กับประชาชน มุ่งกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
เมื่อเวลา 13.22 น. วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขอชี้แจงและตอบคำถามในการวาระเรื่องด่วน การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ร่วมกันอภิปรายไปได้ระยะหนึ่งในงบประมาณโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า ขอบคุณที่หลายคนเข้าใจตรงกันและมีความประสงค์เดียวกับรัฐบาลในการเดินหน้านโยบายที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชน
นายจุลพันธ์ ชี้แจงในเรื่อง Negative List ซึ่งมีการเพิ่มรายการของต้องห้าม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือสื่อสาร หลักคิดในกลไกที่เราคิดคือ เมื่อเงินลงไปแล้วจะต้องเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน เกิดการผลิตภายในประเทศเป็นหลัก สินค้าที่โดนตัดออก เป็นสินค้าที่มี Import Content (การนำเข้า) เป็นหลัก เช่น น้ำมัน โทรศัพท์มือถือ ซื้อปุ๊บเงินไปต่างประเทศทันที
ส่วนที่มีการมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาสามารถแก้ไขเรื่อง Negative List ได้ โดยความยินยอมของคณะอนุกรรมการกำกับนโยบาย เพราะเราต้องหารให้มีความยืดหยุ่น มีสินค้าบางประเทศที่ได้รับข้อแนะนำมา เรารับฟังตลอด ยกตัวอย่าง เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์ควรซื้อได้หรือไม่ โดยหลักคิดต้องบอกว่าไม่ได้ แต่ยังไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ใน Negative List จึงต้องมอบหมายกระทรวงพาณิชย์พิจารณาเพิ่มเติม และมานำเสนอต่อคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง เป็นกลไกที่ทำให้นโยบายสามารถเดินหน้าได้โดยที่ไม่สะดุดติดขัด และยืดหยุ่นเพียงพอ
...
ขณะที่ประเด็นร้านใหญ่-ร้านเล็ก นายจุลพันธ์ ขอเรียนว่า เราพยายามอย่างสูงที่สุดในการกำหนดพื้นที่ระดับอำเภอ กำหนดขนาดร้านค้า ซึ่งต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก ล้วนเป็นกลไกที่พยายามจะกำกับให้เงินตกกับรายย่อยมากที่สุด การตัดสินค้าบางประเภทก็เช่นเดียวกัน เช่น ซื้อแอร์ 1 เครื่อง 10,000 บาทไม่พอ ก็ต้องเติมเข้าไป ก็จะไปตกอยู่กับผู้ค้ารายเดียว จึงต้องพยายามจำกัดให้เกิดการกระจายของเม็ดเงินลงไปยังพี่น้องประชาชน และร้านค้า ที่มันกระจายตัวมากที่สุด นี่เป็นกลไกที่เรากำหนดขึ้น
"และยืนยันครับว่าสิ่งที่เราทำเนี่ย ในอดีตที่ผ่านมาโครงการของรัฐ มีร้านค้าที่เข้าร่วมราว 1,200,000 ร้านค้า นี่คือ maximum สูงสุดที่เคยมีมา แต่ในโครงการนี้เราจะสามารถดึงร้านค้าเข้ามาอยู่ในระบบได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านร้านค้า ยกตัวอย่าง ร้านค้าที่อยู่ในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ราว 910,000 ร้านค้า ร้านธงฟ้า รวมถึงร้านอาหารธงฟ้า อีกประมาณ 150,000 ร้าน ร้านในกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มสหกรณ์ที่อยู่กับกระทรวงเกษตรฯ อีกราว 100,000 ร้าน"
นอกจากนี้ ยังมีร้านโชห่วย หาบเร่แผงลอย ร้านอาหาร ร้านตลาดนัด ซึ่งร้านเหล่านี้ยังไม่มีการลงทะเบียนกับรัฐ วันนี้เราใช้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ร้านค้าเหล่านี้มีโอกาสขึ้นทะเบียนในระยะเวลาที่กำหนด คาดว่าจะมีมาอีก 400,000 ร้านค้า รวมถึงร้านที่เป็นเครือข่ายซัพพลายเชน (Supply Chain) ของห้างร้านหรือร้านสะดวกซื้อ อีกไม่ต่ำกว่า 500,000 ร้าน สำหรับประเด็นความเป็นห่วงเรื่องร้านค้าส่ง-ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ มีเพียงแค่ 50,000 ร้านค้า ที่จะเข้าร่วม เพราะฉะนั้น สัดส่วนจำนวนส่วนมากจะเป็นร้านขนาดเล็ก เป็นร้านของประชาชน วิสาหกิจ สหกรณ์ ขณะที่ร้านซึ่งเป็นเครือข่ายใหญ่มีไม่เกิน 50,000 ร้าน แต่ก็ต้องเข้าใจว่ากลไกโครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไหลไปทางนั้นได้
แต่ประเด็นหนึ่งที่ต้องชี้แจงคือ สำหรับรัฐบาลในครั้งนี้ เราพยายามที่จะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ การจะไปดัดเอาโครงสร้างทางธุรกิจในปัจจุบันด้วยกลไกโครงสร้างของนโยบายนี้ ไม่น่าจะเป็นไปได้ ทำในระยะเวลานี้ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องไปอุดหนุน ไปช่วยเหลือ สร้างกลไกที่จะทำให้ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านค้าของพี่น้องประชาชน มีความเข้มแข็งต่อไป ถึงแม้ว่าเงินบางส่วนอาจจะต้องไปใช้ในร้านค้าที่ท่านเป็นห่วงก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าร้านค้าเหล่านั้นก็ไม่ใช่ผู้ผลิต สุดท้ายก็ต้องนำเม็ดเงินส่งต่อไปยังซัพพลายเออร์ คือ ตัวผู้ผลิตสินค้าต่อไป เพราะเขาไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้ามาขาย เขาเป็นเพียง Point of sale เขาเป็นเพียงแค่จุดขาย จุดตั้งวางของเท่านั้น
เรื่องตัวคูณทางเศรษฐกิจ นายจุลพันธ์ ระบุว่า กลไกนี้อย่ามองเพียง 2 รอบที่เรากำหนดโครงการไว้ ยืนยันว่าพยายามจะให้มีการหมุน 2 รอบ กระตุ้นการผลิต การจ้างงาน ในกลุ่มที่เราต้องการ จึงได้กำหนดเป็น 2 รอบอย่างน้อย ที่จะใช้เงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต คือมีรอบแรกระหว่างประชาชนกับร้านค้า รอบที่ 2 คือ ร้านค้ากับร้านค้า ไปซื้อซัพพลาย ไปซื้อสินค้าทุน หากกรณีที่ครบรอบ 2 แล้ว มีร้านค้าตัดสินใจไปขึ้นเงินสด ต้องทำความเข้าใจว่าเงินไม่ได้หายไปไหน เม็ดเงิน 500,000 ล้านบาท มันจะอยู่ในรูปแบบของเงินในดิจิทัลวอลเล็ต หรือจัดขึ้นเป็นเงินสดกลายเป็นเงินบาทปกติก็ตาม สุดท้ายเงินเหล่านี้จะเป็นกลไกในการเคลื่อนหมุนเศรษฐกิจต่อไปอีกหลายๆ รอบ เพราะเงินบาทเดิมจะใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
"วันนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่เหมือนกับบ่อน้ำที่น้ำไม่พอ ปลาอยู่เยอะเกินไป มันก็ตาย มันก็อยู่ไม่ได้ เราต้องการเติมน้ำเข้าไปในบ่อให้เพียงพอ เพื่อให้ทุกคนมีอากาศเพียงพอ สามารถที่จะอยู่ระบบเศรษฐกิจร่วมกันได้ และก็สามารถที่จะมีเงินที่จะใช้เพียงพอ Cash Flow มีเพียงพอที่จะเดินหน้าระบบเศรษฐกิจต่อไป"
ในช่วงท้าย นายจุลพันธ์ ขอบคุณสมาชิกที่มีความเข้าใจในเรื่องประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องเม็ดเงินที่ลงไปถึงประชาชน การกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี เราเชื่อมั่นว่ากลไกนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประโยชน์อื่น เช่น เรื่องข้อมูลการอภิปรายที่เข้าใจได้ลึก ข้อมูลที่จะได้ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ระบบแอปกลางของรัฐครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์สูงสุดในการที่จะบริหารจัดการภาครัฐ ในการที่จะกำหนดนโยบายในอนาคต เปลี่ยนข้อมูลเป็นสิ่งที่เรียกว่า Data Lake จะสามารถวิเคราะห์ บริหาร ในการที่จะจัดสรรงบประมาณที่มี เพื่อไปช่วยประชาชน แก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างตรงจุดขึ้น จะสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมาย ติดตามผลได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับการแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนต่อไป และจบการชี้แจงในเวลา 13.30 น.
(แฟ้มภาพ)