ครม.ไฟเขียว ขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ส่งผลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่ง ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ได้ 

วันที่ 16 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. การกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่อัตราร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน เป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2567 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567

2. ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวม 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) โดยปรับลดอัตราเงินนำส่งเหลือร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2567 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กค. เสนอว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบันเริ่มคลี่คลายลง และสภาวะเศรษฐกิจได้เริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ยังคงส่งผลต่อกลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ประชาชนรายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่ยังอยู่ระหว่างฟื้นตัว และอาจไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ สถาบันการเงินเฉพาะกิจจึงเป็นกลไกสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจ และยังคงต้องให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีช้อสั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง จัดทำข้อเสนอโครงการหรือมาตรการใหม่ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้รับการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะสามารถส่งผ่านการลดอัตราเงินนำส่งดังกล่าวเพื่อไปช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม

...

ดังนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และกำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจส่งผ่านการลดอัตราเงินนำส่งไปช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ประชาชนรายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงลูกหนี้นอกระบบ กค. พิจารณาแล้วเห็นควรขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวม 4 แห่ง ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธอส. และ ธอท. จากเดิมอัตราร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชนออกไปอีก 1 ปี สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 31 ธันวาคม 2567 และกลับมาใช้อัตราร้อยละ 0.25 ต่อปีสำหรับรอบการนำส่งเงินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

คณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ได้พิจารณาทบทวนอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และมีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง โดยปรับลดอัตราเงินนำส่งลงกึ่งหนึ่งจากร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน ออกไปอีก 1 ปี สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2567

2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกองทุนฯ ยกร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

- ยกเลิกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2566
- กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตรา ดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน สำหรับการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2567
(2) ร้อยละ 0.25 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน สำหรับการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
(3) กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง ได้จัดทำรายละเอียดโครงการหรือมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยสามารถส่งผ่านการลดอัตราเงินนำส่งดังกล่าวเพื่อไปช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ลูกหนี้ประชาชนรายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และลูกหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย (1) การลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราผ่อนปรนพิเศษให้แก่ลูกหนี้เป็นการทั่วไป เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) เป็นต้น (2) การลดอัตราดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยค้างรับตามสัญญา และ (3) การเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ที่ทำให้เงินต้นของลูกหนี้ปรับลดลงในทุกงวดที่ผ่านชำระ ซึ่งคาดว่าจะได้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ประมาณ 5 ล้านบัญชี

โดยธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) มีความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจว่า ควรพิจารณาถึงความพอเพียงของสภาพคล่องในการดำเนินงานตามพันธกิจในอนาคต และควรมีกระบวนการติดตาม และประเมินผลการส่งผ่านความช่วยเหลือของสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปยังลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงว่าการปรับลดอัตราเงินนำส่งดังกล่าวถูกส่งผ่านไปเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม รวมทั้งควรระมัดระวังไม่ให้เกิดการสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบที่จะหยุดชำระหนี้ (moral hazard) เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อวินัยทางการเงินที่ดี