นักคิด และนักทฤษฏีจำนวนหนึ่งเพิ่งออกมาบอกเมื่อไม่นานมานี้ว่า ประเทศไทยเราใช้บุญเก่าหมดไปแล้ว 

ในทางเศรษฐกิจ บุญเก่าหมายถึง การเป็นประเทศที่มีแรงงานราคาถูก มีทักษะในการรับจ้างผลิตสินค้าให้แก่ประเทศต่างๆ มีความสามารถทางการแข่งขันในระดับที่น่าพอใจ และเป็นประเทศที่น่าลงทุนเพราะมีโครงสร้างสาธารณูปโภคที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

แต่นั่นมันเกือบ 20 ปีมาแล้ว และเพราะการรัฐประหารที่กินเวลาไป 2 พีเรียด นับตั้งแต่ปี 2549-2555 ติดๆ กันอีกครั้งในปี 2557-2566 รวมระยะเวลามากกว่า 15 ปี ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และ สังคม ตลอดจนถึงการพัฒนาศักยภาพของคน แรงงาน ระบบการศึกษา และการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตสู่ยุคแห่งความทันสมัยตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ชะลอตัวลง และเกือบเป็นศูนย์ 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ออกมาให้เหตุผลในการปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้เหลือเพียง 3% ว่า การคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจจะฟื้น ก็ไม่ใช่จะกลับไปที่ 4-5% แต่ฟื้นตัวที่ระดับประมาณ 3% บวกลบ 

ตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขตายตัว ปรับเปลี่ยนได้ แต่ถ้าต้องการจะให้เศรษฐกิจโตกว่านี้ ต้องทำอะไรในเชิงโครงสร้าง ต้องมีการลงทุน มีเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งไม่ได้มาจากการไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าผลิตได้แค่นี้ กระตุ้นให้ตายก็จะกลับมาเท่านี้ ถ้าเราอยู่อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ศักยภาพเราก็จะประมาณ 3% ...เท่านั้น

คำพูดนี้บอกชัดเจนว่า เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ระดับ 4-5% ทำไม่ได้ และไม่มีทางทำได้ 

สาเหตุเพราะตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพของคนไทย ขึ้นสวนทางกับการเติบโตของรายได้ จะเรียกว่า รายได้ไม่ฟื้นตัวเต็มที่ก็ได้ ในขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ตรงกันข้ามกับการเติบโตของประชากรในวัยแรงงานซึ่งลดลงจนเกือบจะเหลือศูนย์ จากที่เคยเพิ่มขึ้น 1.2% เท่ากับ แรงงานขาดหายไปจากประเทศไทยมากถึง 1.2% 

...

คำนวณออกมาแล้วจึงได้ศักยภาพการผลิตของเศรษฐกิจไทยเพียง 2% กว่าๆ และถ้าใช้แบบจำลองของแบงก์ชาติ ก็จะได้ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจเพียง 3% บวกลบเท่านั้น

เฉพาะด้านการผลิตที่ประเทศไทยเคยเป็นโรงงานรับจ้างผลิตอย่างเดียว (OEM : Original Equipment Manufacturer) ปัจจุบันโรงงานในประเทศไทย ก็ยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ ไม่ได้มีการพัฒนารูปแบบโรงงานให้สอดรับกับตลาดโลกได้

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศจีน มีโรงงานที่รับจ้างออกแบบ และผลิตสินค้าให้แก่บริษัทที่นำไปขายในแบรนด์ของตัวเองได้ (ODM : Original Design Manufacturer)... 

และโรงงานที่พัฒนาไปถึงขั้นเป็น OBM : Original Brand Manufacturer หรือโรงงานที่ผลิตภายใต้รูปแบบ และตราสินค้า เหมาะกับแบรนด์ที่มีความมั่นคงแข็งแกร่ง และพัฒนาได้เต็มที่เพื่อผลิตสินค้า และจำหน่ายในปริมาณที่มากได้ โดยเจ้าของแบรนด์ไม่ต้องลงทุนเอง

มีคำถามว่า เศรษฐกิจไทยโตเพียง 3% พอไหม ดร.เศรษฐพุฒิ ตอบว่า ประเทศไทยต้องการการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืนที่สูงกว่านี้ แต่ศักยภาพเศรษฐกิจทำให้โตได้เท่านี้ ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้จึงเกิดขึ้น และส่งผลทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น

ในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงโควิด เป็นต้นมา หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับสูงถึง 90.8% หรือประมาณ 15 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 เป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้ที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง นอกจากนี้ ยังเป็นหนี้ของเกษตรกรเสียเป็นส่วนใหญ่ด้วย โดยแต่ละครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้สูงถึง 500,000 บาททีเดียว

ดร.เศรษฐพุฒิ ตบท้ายด้วยว่า ถ้าตัวเลขหนี้สินครัวเรือน ยังไม่ได้รับการแก้ไข และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องต่อไป อาจจะจบไม่ดีเหมือนวิกฤติปี 40 ได้! ถึงตรงนั้นเมื่อใด เราอาจจะต้องเปลี่ยนคำว่า วิกฤติ เป็น วิบัติ...ทีนี้ล่ะก็ ตัวใคร ตัวมันละกัน!!