“นลินี” ขับเคลื่อนข้อสั่งการนายกฯ นำคณะนักธุรกิจบุกตลาดบังกลาเทศ หาช่องทางขยายการค้าและการลงทุน ชี้ มีปัจจัยสนับสนุนและสิทธิพิเศษต่างๆ เอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนไทย

วันที่ 14 กรกฎาคม 2567 นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ขับเคลื่อนข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี นำคณะนักธุรกิจไทยหลายสาขาบุกตลาดบังกลาเทศ สำรวจลู่ทางขยายโอกาสการค้าและการลงทุนใน 3 เมืองหลัก กรุงธากา เมืองจิตตะกอง และคอกซ์ บาซาร์ (Cox's Bazar) ระหว่างวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2567 โดยวันแรกนำคณะเข้าเยี่ยมชม Bangladesh Special Economic Zone มองว่าเป็นโอกาสของนักลงทุนไทย เนื่องจากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นแบบอย่างความสำเร็จในการร่วมพัฒนาระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (บังกลาเทศและญี่ปุ่น) มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง และการให้สิทธิพิเศษต่างๆ 

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวต่อไปว่า การนำคณะนักธุรกิจไทยเยือนบังกลาเทศในครั้งนี้ เป็นผลจากการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ เชค ฮาซีนา (Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 24-29 เมษายน 2567 ซึ่งได้หารือกับ นายเศรษฐา เพื่อหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนในฐานะผู้แทนการค้าไทย เอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา (นางมาฆวดี สุมิตรเหมาะ) และกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะภาคเอกชนไทยไปสำรวจศักยภาพทางเศรษฐกิจที่บังกลาเทศเพื่อหาทางรักษาตลาดและขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะในสาขาศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร พลังงาน สินค้าฮาลาล ท่องเที่ยว สุขภาพ และโลจิสติกส์

...

นางนลินี เปิดเผยถึงภารกิจของการเดินทางเยือนบังกลาเทศในวันแรก ว่า ตนและคณะนักธุรกิจไทยในสาขาต่างๆ อาทิ การแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตร พลังงาน และนิคมอุตสาหกรรมได้เข้าเยี่ยมชม Bangladesh Special Economic Zone เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลบังกลาเทศกับรัฐบาลต่างประเทศด้านการลงทุน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดย Bangladesh Special Economic Zone เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลบังกลาเทศ โดยหน่วยงานบริหารเขตเศรษฐกิจบังกลาเทศ (BEZA) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และบริษัท Sumitomo ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการลงทุนของเอกชนญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ที่สนใจลงทุน โดยมีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ 

ทั้งนี้ การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีความได้เปรียบ เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบน้ำ ระบบไฟ ตลอดจนในแง่ของทำเลที่ตั้งและการขนส่ง นอกจากนี้ นักลงทุนยังจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือการยกเว้นภาษีเงินได้จากส่วนเกินทุน ทั้งหมดนี้จึงทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและน่าสนใจสำหรับนักลงทุนชาวไทย โดยบังกลาเทศตั้งเป้าที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจทั้งประเทศเป็นจำนวน 100 แห่ง เพื่อสร้างงานเพิ่ม 10 ล้านตำแหน่ง

ในช่วงท้าย ผู้แทนการค้าไทย ยังกล่าวด้วยว่า บังกลาเทศเป็นประเทศที่มีประชากรราว 170 ล้านคน มากเป็นอันดับ 8 ของโลก มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 35 ของโลก โดยมีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูง ร้อยละ 20 หรือประมาณ 34 ล้านคน มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษ อีกทั้งบังกลาเทศยังเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยในปี 2566 การค้าทวิภาคีมีมูลค่า 1,185.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในบังกลาเทศ โดยสินค้าและบริการของไทยได้รับความเชื่อมั่นจากชาวบังกลาเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม นอกจากนี้ รัฐบาลบังกลาเทศยังได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศโดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การลดขั้นตอนการอนุมัติการลงทุน และการให้ความสะดวกในการทำธุรกรรมทางธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้บังกลาเทศเป็นตลาดที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับนักลงทุนไทย