คนไทยได้เห็นหน้าค่าตา “สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่” ที่ผ่านการเลือกกันเองของบุคคลผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์การทํางานหลากหลายใน 20 สาขาวิชาชีพ จำนวน 200 คน “อันจะเป็นตัวแทนประชาชน” เข้ามาทำหน้าที่ตามกลไกของรัฐธรรมนูญในวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปีข้างหน้านี้

ท่ามกลางสังคมตั้งข้อสังเกตพิรุธ “การจัดตั้ง สว.” มีความเชื่อมโยงการเมืองกลุ่มต่างๆ เตรียมการส่งตัวแทนมาช่วงชิงที่นั่งในสภาฯกันแน่นหนา เช่นนี้การทำหน้าที่ สว.ชุดใหม่จะนำพาประเทศผ่านวิกฤติอย่างไร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดราชดำเนินเสวนา “ส่อง สว.ใหม่ ความหวังหรือวิกฤติครั้งใหม่”

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า การเลือก สว.คราวนี้ถูกออกแบบมาค่อนข้างซับซ้อนที่สุดในโลก เพราะไม่ต้องการเลือกตั้งโดยตรง กลัวว่า “ฝ่ายการเมือง” จะเข้าไปมีบทบาทในสภาสูง แต่ว่าจะใช้ระบบเลือกตั้งปี 2540 ก็เป็น สว.แต่งตั้ง กลัวถูกมองว่ารัฐบาลจะเข้าไปควบคุมสภาเช่นเดิม

สุดท้ายนำมาสู่การเลือกกันเอง “แบบกลุ่มอาชีพ” ที่หวังจะได้ สว.เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย แต่เรื่องนี้แค่เริ่มต้นก็ผิดแล้วเพราะนิยามอาชีพต้องเลี้ยงชีพโดยตรง “ด้วยคนไทยมักประกอบอาชีพมากกว่า 1 อาชีพ” เป็นช่องให้ผู้สมัครเลือกลงกลุ่มอาชีพที่ไม่ใช่เพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้ความตั้งใจจะได้ สว.ผู้แทนกลุ่มอาชีพไม่เกิดขึ้นจริง

...

กลายเป็นว่า “ใครจัดตั้งได้มากสุดก็ได้เปรียบคนอื่น” ดังนั้น ระบบเลือก สว.ที่ซับซ้อนที่สุดแต่บรรลุผลในการได้ผู้แทนปวงชนชาวไทยน้อยที่สุด เพราะถ้าคิดค่าเฉลี่ย 1 จังหวัดควรมี สว. 2.6 คน แต่ปรากฏว่าบางจังหวัดมี สว.มากเกินไป อย่าง จ.บุรีรัมย์ มีมากที่สุด 14 คน ขณะที่อีกด้าน 13 จังหวัดกลับไม่มี สว.แม้แต่คนเดียว

ทำให้ไม่สะท้อน “ความเป็นผู้แทนคนไทย” เป็นความล้มเหลวการเลือก สว.แล้วมีคำถามว่า “14 จังหวัดมีบ้านใหญ่หรือไม่” เชื่อว่าน่าจะมีเพียงแค่การจัดตั้ง สว.ไม่ได้เลือกเฉพาะในจังหวัด แต่มีเลือกข้ามจังหวัดแถมต้องจับฉลากเลือกไขว้อีก “ดวงใครไม่ดีพอก็ลำบาก” จึงมีตัวอย่างผู้สมัครโดดเด่นบ้านใหญ่สีแดงสอบตกรอบไขว้

สาเหตุบ้านใหญ่ส่งเครือข่ายเข้าสมัครมากเพราะ สว.มีอำนาจเห็นชอบผู้จะมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ให้ความเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีส่วนได้เสียการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร สิ่งนี้จูงใจให้ส่งตัวแทนเข้ามานี้

ความจริงสำหรับ “การจัดตั้ง หรือการฮั้วเลือก สว.” ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมายด้วยระบบการเลือก สว.ออกแบบมาให้เลือกกันเอง เพียงแค่ “ห้ามใช้เงิน ผลประโยชน์คำนวณเป็นตัวเงิน หรือห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ความช่วยเหลือ” เช่นนี้หากมีหลักฐานชัดก็ตัดสิทธิไม่รองรับบุคคลนั้นแล้วเลื่อนผู้มีคะแนนถัดไปขึ้น

ถ้าปรากฏพบว่ามีหลักฐานการทำผิด หรือตรวจสอบคุณสมบัติไม่ตรงภายหลังสามารถยื่นฟ้องศาลฎีกาเอาผิดย้อนหลัง กกต.รับรอง สว.ไปแล้วก็ได้ สิ่งนี้จะทำให้กระบวนการต่างๆสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ขณะเดียวกัน สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตผู้สมัคร สว. บอกว่า เจตนารมณ์การออกแบบกติกาเลือก สว. เพื่อให้ได้กลุ่มอาชีพหลากหลาย มีความเป็นกลาง ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้มีความเป็นอิสระปลอดจากการแทรกแซงของนักการเมือง และกลุ่มทุนต่างๆครอบงำ

ทำให้ถูกออกแบบมาเป็น 20 กลุ่มอาชีพแล้วเลือกกันเองและเลือกไขว้ “เพื่อไม่ให้ฮั้วกันขึ้น” สิ่งนี้กลับทำได้เพียงระดับหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด เพราะตัวแทนกลุ่มอาชีพหละหลวมจากระเบียบให้ใครก็ได้รับรอง 1 คน ส่งผลให้ผู้สมัครเลือกกลุ่มอาชีพตามใจตัวเอง หรือผู้บงการว่าอยู่กลุ่มใดจะชนะมากกว่าพื้นเพ ความรู้ความสามารถแต่ละคน

ส่วนความเป็นกลาง “สว.มากกว่าครึ่งถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง” ดูง่ายๆระดับอำเภอลือกันว่ามีการหาคนไปสมัครเป็นโหวตเตอร์โดยไม่ต้องเสียค่าสมัคร และรับค่าจ้าง 2,500 บาท แต่คนกลุ่มนี้หลุดเข้ารอบไขว้ปรากฏว่า “ไม่รู้จะเลือกใคร” ส่งกระดาษเปล่าอันเป็นบัตรเสียมหาศาลจึงอยากให้ กกต.ตรวจสอบบัตรเสียนี้ด้วย

ในขั้นตอนระดับประเทศลือว่า “ผู้สมัครอิสระบางคน” ได้รับการติดต่อจากคนกลุ่มหนึ่ง เสนอตัวเลข ค่าโรงแรม ค่าเครื่องบินและค่าตอบแทน 1-2 แสนบาท เพื่อให้มาอยู่กลุ่มลงคะแนนตามบัญชีโพยสำเร็จรูปที่กำหนดไว้

ข้อสังเกตในลำดับที่ 1-7 มักจะมีคะแนนเกาะเป็นกลุ่มกัน เพราะบัตรที่ใช้เลือกรอบบ่ายจะมีเพียง 5 เบอร์เท่านั้น สิ่งนี้เป็นกระบวนการที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นจึงเห็นว่าคนกลุ่มนี้มีคะแนนสูงที่มาจากโพยนั้นหรือไม่

“สว.ไม่ได้หน้าตาดีทั้งหมดแต่ก็มีคนหน้าตาดีอยู่เยอะ และอย่าเพิ่งคิดว่าจะทำงานไม่ได้ถึงแม้ว่าบางคนมีคุณสมบัติแบบนี้มาเป็น สว.ก็ตาม เราต้องยอมรับกติกาที่เกิดขึ้น ส่วนตรงไหนเป็นปัญหาต้องหาทางแก้ไขต่อไป ดังนั้น ในอนาคต สว. ยังมีความหวัง แต่อนาคตทางการเมืองไทยถือว่าวิกฤติ” สมชัย ว่า

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา บอกว่า การได้มาซึ่ง สว.ครั้งนี้ยอมรับว่า “เป็นสิ่งพิสดารวิปริตที่สุดในโลก” ไม่ควรนำมาใช้กับการคัดเลือกผู้จะเข้าทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยกติกาเลือก สว.กำหนดเพียงอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นกลับไม่มีการกำหนดคุณสมบัติการศึกษา

ทำให้อาจเกิดปัญหาไม่ตรงปก เพราะคุณสมบัติของวุฒิสภาอย่างน้อยต้องมีความรู้ขั้นต่ำในระดับ ป.ตรี มีความรู้ด้านกฎหมาย เมื่อไม่กำหนดคุณสมบัติย่อมไม่ได้คนมีคุณภาพ และไม่ตรงปกมาทำงานนิติบัญญัติก็ได้

ถัดมา “กติกาเลือก สว.โหด เหี้ยมคล้ายเล่นเกมโชว์” เพราะกติการอบแรกให้สายอาชีพเลือกกันเอง “เป็นช่วงสกัดคนดัง” ด้วยการไม่ลงคะแนนให้ที่เรียกว่า “รอบสกัดจุดแข็ง” ไม่ให้ผ่านเข้าสู่รอบไขว้ที่ทุกคนมี 4 คะแนนสามารถตกลงแลกกับคนอื่นได้ ตรงนี้บางคนตกลงแลกกับคนนี้แล้วยังหักหลังไปตกลงแลกคะแนนคนอื่นอีก

สิ่งนี้ที่เรียกว่า “กติกาหักหลัง” ดังนั้น การเข้ามาเป็น สว.แบบนี้จะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ ทั้งยังมีกระบวนการฮั้วสำหรับผลนับคะแนน สังเกตจากผู้สมัครบางคนได้คะแนนเป็นปึกเป็นแผ่นล้นแผ่นกระดานที่เกิดขึ้นทุกกลุ่มด้วยซ้ำ เรื่องนี้คงต้องศึกษาต่อว่าคนกลุ่มนี้สามารถถอดรหัสกติกานำไปสู่ความสำเร็จการได้มา สว.กันอย่างไร

สรุปว่า “กติกาเลือก สว.ครั้งนี้” ส่วนตัวเห็นว่าไม่สมเหตุสมผลที่จะได้ผู้จะเข้ามาเป็น สว.อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะการสำรองรายชื่อไม่มีประเทศใดทำกัน สิ่งนี้จะเป็นเหตุจูงใจให้มีการร้องค้านกันมากขึ้น ตามหลักกติกาสากลในระบอบประชาธิปไตยเขาไม่ทำกัน เพราะการได้มาซึ่ง “ผู้แทนประชาชน” ต้องให้เขาเป็นผู้เลือกเอง

“ตอนนี้พยายามรวมกลุ่ม สว.มีอุดมการณ์เดียวกัน 30 คน แม้เป็นกลุ่มน้อยนิดก็เป็นความหวังของประเทศ เพราะเชื่อว่า สว.ชุดนี้จะไม่โหวตแบบได้มา 200 แต้มถ้วนดังที่ผ่านมา และขอเปิดโอกาส สว.ยุคใหม่สื่อสารกับประชาชนอันจะเรียกร้องให้ถ่ายทอดสดประชุมสภาฯ เพื่อโชว์อภิปรายให้สังคมได้เห็นศักยภาพ” รศ.ดร.นันทนาว่า

แบบนี้แล้วหาก “สว.รู้อะไรประชาชนต้องรู้เหมือนกัน” เพื่อให้การทำงานมีความโปร่งใสในทุกเรื่อง รวมถึงการเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็จะขอเสนอให้ “แสดงวิสัยทัศน์” ลักษณะแบบการประกวดนางงามที่มีการถ่ายทอดสดในการประชุมวุฒิสภา เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล ไม่ใช่งุบงิบเลือกกันเอง

ดังนั้น “สว.ยุคใหม่” จะต้องทำงานกันอย่างโปร่งใส สื่อสาร และทำงานรับใช้ประชาชน อันจะเป็นมิตรใหม่ของ สว.ให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเท่ากับ สว.จะไม่ทำกันแบบลับๆเพื่อให้เป็นความหวังประเทศต่อไป

ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา บอกว่า ส่วนตัวถูกสกัดตั้งแต่ระดับจังหวัดในกลุ่ม 18 แต่ผ่านมาจนรอบไขว้เข้าระดับประเทศ แต่ไม่มีใครโทรศัพท์มาเพราะไม่มีใครอยากคุยกับสื่อมวลชนและนักกฎหมาย แม้ว่า สว.ชุดใหม่อาจมีคนไม่ตรงปกแต่การมีคนทุกสาขาอาชีพมาสะท้อนปัญหาของสังคมได้ก็จะเป็นความหวังของประเทศ

ฉะนั้นประเทศไทยยังไม่สามารถฝากการแก้วิกฤติไว้กับการมี สว.ครั้งนี้แต่ “สว.ชุดนี้” จะไปขับเคลื่อน แก้ปัญหาบางอย่างให้ดีกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากมีช่องทางในส่วนตัวมีจุดยืนสนับสนุนเรื่องนี้

ย้ำทั้งหมดนี้เป็นกลไกการคิดค้น “เลือก สว.แบบกันเอง” ที่ซับซ้อนมากที่สุดในโลกจาก 20 กลุ่มอาชีพ เพื่อเป็นความหวังของประชาชนเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม