การเลือก สว.ชุดใหม่ 200 คน ที่ กกต.รับประกันว่าเป็นไป “ด้วยความถูกต้อง สุจริตและเที่ยงธรรม” จะนำการเมืองไปสู่ การปฏิรูปการเมือง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบเสียที หรือว่าจะต้องจมปลักอยู่ในระบบเผด็จการนํ้าเน่าอย่างไม่มีวันสิ้นสุด อย่างที่เป็นมากว่า 92 ปี นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง

มีเสียงร่ำลือจนไม่มีใครกล้าปฏิเสธ ลือกันว่าผลการเลือกตั้งทำให้พรรคการเมืองบางพรรค สามารถคุมเสียงข้างในวุฒิสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.ใหม่ถอดด้าม แต่เป็นอดีต สส.หลายสมัย เล่าให้นักข่าวฟังว่ามีคนไลน์มาหรือโทร.มา เพื่อเสนอผลประโยชน์ให้ เพื่อให้ร่วมกลุ่มกับผู้เสนอ

แต่ นพ.เปรมศักดิ์ ตอบกลับไปว่า ตนมีเงินเยอะ ไม่ต้องการเป็นลูกน้องใคร ทราบมาว่ามีการดักรอที่จุดรับรองจาก กกต. ไม่ทราบว่าจะมีคนอื่นหวั่นไหวหรือไม่ หลังจากเสร็จสิ้นการเลือก สว.เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน สื่อมวลชนหลายสาขาประโคมข่าวว่าผู้สอบผ่าน สว.กว่า 140 เป็นคนของพรรคบางพรรค

ถ้าข่าวข้างต้นเป็นความจริง ต้องถือว่าเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่ง และอาจทำให้การเมืองไทยจมปลักอยู่ในนํ้าเน่าต่อไป ถ้าหากพรรคการเมืองคุมเสียงในวุฒิสภาได้จริง ต้องถือว่าเป็นการเลือกสภาสูงที่ล้มเหลว ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้วุฒิสภาเป็นสภาของกลุ่มอาชีพต่างๆ (อย่างน้อย 20 กลุ่ม) เลือกกันเข้าสภา

เพื่อให้ สว.เป็นผู้แทนประชาชน จากหลากหลายกลุ่มอาชีพ ไม่ใช่ตัวของพรรคการเมืองหรือกลุ่มใดๆ คำถามก็คือทำไมพรรคการเมืองจึงต้องการคุมสภาสูง คำตอบที่ตรงไปตรงมาก็คือ เพื่อคุมอำนาจการเมือง เพราะ สว.ชุดใหม่แม้จะไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อสืบทอดอำนาจของรัฐบาลคณะรัฐประหาร แต่ยังมีอำนาจสำคัญ

...

ประการแรก สว.มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบในการเลือกองค์กรอิสระต่างๆ เช่น กกต., ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ ประการที่สอง สว.มีอำนาจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามกติกาประชาธิปไตยที่พิสดาร ให้เสียงข้างน้อยมีอำนาจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้รัฐธรรมนูญได้ต้องมี สว.อย่างน้อย 1 ใน 3 เห็นชอบ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมี สว.อย่างน้อย 67 คน ให้ความเห็นชอบ มิฉะนั้นการแก้ไขต้องตกไป แม้ สส.ทั้งสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะเทคะแนนให้หมด ก็ช่วยไม่ได้ นี่คือกติกาประชาธิปไตยที่พิสดาร ตัดสินกันด้วยเสียงข้างน้อย เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ หรือเพื่อรักษาอำนาจระบบอำนาจนิยม.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม