“ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ถามหา ใครต้องรับผิดชอบ ปมจัดการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมฯ “ชาญ” เคยถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด จนสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำประชาชนเสียเวลา-เสียโอกาส ชาติเสียหายร่วม 100 ล้าน กระตุก กกต. เหตุไม่รอบคอบ ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร

วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส. นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี ที่ นายชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้ชนะเลือกตั้ง ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดการจัดซื้อถุงยังชีพเมื่อปี พ.ศ.2554 โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาฯ  โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า นายชาญ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่นั้นว่า  

ในฐานะที่ตนเคยเป็นผู้ยกร่างกฎหมาย ป.ป.ช. แก้ไขเพิ่มเติมปี 2552 อยากให้ประชาชนได้รับทราบถึงข้อบกพร่องของหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายว่า เหตุใดจึงปล่อยให้เกิดปัญหาในกรณีนี้ที่เลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ได้นายชาญแล้ว แต่กลับปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เพราะเหตุ ป.ป.ช.เคยมีคำวินิจฉัยว่า นายชาญ มีการทำตามความผิดเกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างจึงถูกชี้มูลความผิดตั้งแต่ปี 2566 ก่อนมีการเลือกตั้ง กระทั่งมีการส่งเรื่องขึ้นฟ้องศาล นายชาญ ได้ไปมอบตัวที่ศาล อยู่ที่ว่าศาลจะนัดพิจารณาคดี ทราบตามข่าวคือกลางเดือน ก.ค.นี้ เหตุการณ์นี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ คือกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 81 เกี่ยวกับกรณีการชี้มูลความผิดของนักการเมือง แล้วส่งให้ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าศาลรับเรื่องประทับฟ้องเมื่อไหร่ ก็ต้องหยุดการทำหน้าที่ทันที ยกเว้นศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งกฎหมายนี้เอามาใช้กับ สส. และ สว. โดย ป.ป.ช.มีระเบียบทั้งการไต่สวนและตรวจสอบในข้อ 76 กรณีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในการไต่สวน รวมถึงหมวด 6 ว่าด้วยการส่งสำนวนไต่สวนและการดำเนินคดีตามข้อ 89 ที่ระบุว่า “เมื่อกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลการทำความผิดแล้ว ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ โดยเฉพาะ (5) และ (6)ให้แจ้งคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงถึงผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาให้ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่วินิจฉัย”

...

ซึ่งกรณีของ นายชาญ นี้ทาง ป.ป.ช.ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีในฐานะผู้บังคับบัญชา เพื่อให้ทราบก่อนเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานีแล้ว ว่า ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ให้ส่งคำวินิจฉัยพร้อมบทสรุปไปยังผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ พ้นจากตำแหน่งภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่รับแจ้ง จากกรณีของนายชาญนี้ ทาง ป.ป.ช.ได้แจ้งให้ทางจังหวัดรู้แล้วว่า มีคำวินิจฉัยถูกชี้มูล ทางจังหวัดจึงได้มีหนังสือแจ้งเวียนถึงนายอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดปทุมธานีให้ทราบว่า ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. ปี 2561 ที่ระบุว่าถ้าผู้ถูกกล่าวหาถูกศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ ประทับรับฟ้องในคดีอาญาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดโดยผู้ถูกกล่าวหาได้พ้นจากตำแหน่งแล้วได้อยู่ในระหว่างตำแหน่งเดิมโดยมารับวาระใหม่ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยผลของมาตรา 93 และมาตรา 81 ของกฎหมาย ป.ป.ช. ตามเอกสารหนังสือเวียนที่แจ้งไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 ก่อนการเปิดรับสมัครเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี 

คำถามคือ เหตุใดกระทรวงมหาดไทยจึงไม่มีการสั่งให้นายชาญพ้นจากตำแหน่งคือการถูกไล่ออก ซึ่งจะทำให้ไม่สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ เพราะขาดคุณสมบัติ มันเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น ป.ป.ช.ต้องไต่สวนกรณีนี้อีกครั้งว่าใครที่ทำผิดและให้ดำเนินคดี พร้อมรับผิดชอบเงินในการจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. อีกร่วม 100 ล้านบาท ที่ต้องสูญเปล่า ก่อให้เกิดปัญหาเป็นตัวอย่างไม่ดีในการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่หมดวาระ และจะมีการเลือกตั้งใหม่ภายในสิ้นปีนี้ทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ ทราบว่ายังมีเรื่องทุจริตที่ค้างในสำนักงาน ป.ป.ช. อีกจำนวนมาก เกี่ยวกับผู้บริหารส่วนท้องถิ่น จึงอยากให้ ป.ป.ช.และกระทรวงมหาดไทย รวมถึง กกต. ว่าขณะนี้ท่านทำผิดกฎหมายแล้วใครจะรับผิดชอบผล เพราะเขามีหนังสือแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามกฎหมายไปแล้ว แต่ท่านไม่สอบถามให้ชัดเจนเพื่อยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา กกต.ในฐานะผู้จัดการและควบคุมการเลือกตั้งนายก อบจ. ควรต้องตรวจสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อนที่จะให้สิทธิรับรองเป็นผู้สมัครลงรับเลือกตั้งหรือไม่.