วันนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สังกัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรี เปิดรับฟังความเห็นเป็นวันสุดท้ายเรื่อง การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติ ครม. 14 มีนาคม 2566 ใน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯครั้งนี้จะมีการ “เพิกถอนพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลานถึง 265,286.58 ไร่” เพื่อนำไปแจกเป็น “ที่ดิน ส.ป.ก.” ให้เกษตรกรทำกิน ถือเป็นการสูญเสียพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติครั้งเดียวที่มากที่สุดในโลก
อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้รับการรับรองจาก ยูเนสโก ให้เป็น “มรดกโลก” มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์สวยงาม เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอนุรักษ์ เสือโคร่ง กระทิง ครอบคลุมพื้นที่ 1.398 ล้านไร่ ใน อ.ปักธงชัย วังน้ำเขียว ครบุรี เสิงสาง จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี มีปัญหาถูกบุกรุกขยายที่ทำกิน การบุกรุกของนายทุนและนักการเมือง จนนำไปสู่มติ ครม.รัฐบาลลุงตู่ ให้จัดแนวเขตใหม่ และมีการเพิกถอนพื้นที่ป่ากว่า 265,000 ไร่ มากจนน่าตกใจ
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติฯ ให้สัมภาษณ์ว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินของชาวบ้านเพียง 50,000 ไร่ ส่วนตัวเลข 260,000 ไร่นั้น เป็นพื้นที่อุทยานทับลานทั้งหมด ไม่ใช่คืนที่ดินทำกินทั้งหมด โดยคณะกรรมการอุทยานจะเป็นผู้พิจารณา เลยเกิด คำถามขึ้นมาว่า พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ 260,000 กว่าไร่ที่เพิกถอนด้วยนั้น รัฐบาลจะเพิกถอนเอาไปให้ใคร? ทุกคนที่กินข้าวก็รู้ว่า เมื่อที่ดินอุทยานแห่งชาติถูกเพิกถอนแล้ว สุดท้ายก็จะตกอยู่ในมือของนายทุนและนักการเมืองทั้งหมด เพราะพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นพื้นที่ป่าที่สวยงามมาก มีการบุกรุกสร้างรีสอร์ตและมีการจับเป็นข่าวมาตลอด โดยเฉพาะพื้นที่ในอำเภอวังน้ำเขียวติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
...
คุณอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) มีมติ ให้เพิกถอนที่ดินอุทยานแห่งชาติทับลานกว่า 265,000 ไร่ เพื่อนำไปแจกเป็นที่ดิน ส.ป.ก. คำถามที่ตามมาก็คือ รัฐบาลแจกที่ดิน ส.ป.ก.มาทุกปี อ้างว่าเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกิน แจกกันมาหลายสิบปีแล้ว วันนี้ยังไม่มีที่ดินทำกินอีกหรือ ล่าสุดมีการ เปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.ให้มีโฉนด เพื่อนำไปจำนองขายได้ ก็อ้างว่าช่วยเกษตรกรอีก
ผมเลยอยากรู้ว่า วันนี้ประเทศไทยมีเกษตรกรเท่าไหร่กันแน่? ก็เลยไปเปิดดูในเว็บไซต์รัฐบาล ก็พบการแถลงข่าวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีเกษตรฯถึง ผลการทำสำมะโนเกษตรปี 2566 โดยระบุว่า ประเทศ ไทยมีเกษตรกร 8.7 ล้านราย (ร้อยละ 37.5 ของครัวเรือนทั้งประเทศ) และมีเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรทั้งสิ้น 142.9 ล้านไร่ (ร้อยละ 44.5 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ) มีการทำกิจกรรมเกษตรดังนี้ ปลูกข้าว ร้อยละ 46.2 ปลูกพืชไร่ ร้อยละ 23.4 ปลูกยางพารา ร้อยละ 19.0 ปลูกพืชยืนต้น ไม้ผล สวนป่า ร้อยละ 8.4 และปลูกพืชผักสมุนไพร และไม้ดอก ไม้ประดับ ร้อยละ 0.5 เกษตรกรทั้งประเทศมีเท่านี้ มีพื้นที่เกษตรมากถึง 142.9 ล้านไร่ แต่กลับมีการแจกที่ดิน ส.ป.ก.เพิ่มทุกปี แจกไปไม่รู้กี่สิบล้านไร่ ทั้งที่จำนวนเกษตรกรก็ลดลงทุกปี
เมื่อไปดู ข้อมูลที่ลึกขึ้น หลังจากมีโครงการ One Map แผนที่มาตรา 1:4,000 เพื่อปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการทั่วประเทศแล้ว ก็ได้พบข้อมูลอันน่าตกตะลึงอีกว่า
สคทช. ได้นำ แผนที่แนบท้ายกฎหมายต่างๆของรัฐ มารวมกันพบว่ามีที่ดินรวมกันถึง 542.35 ล้านไร่ มากกว่าที่ดินประเทศไทยที่มีอยู่เพียง 320.7 ล้านไร่ มีที่ดินงอกขึ้นมาในแผนที่แนบท้ายถึง 221.65 ล้านไร่ คิดเป็น 70% ของที่ดินในประเทศไทยเลยทีเดียว มิน่าล่ะครับ ที่ดินจึงทับซ้อนกันมากมายทั่วประเทศ นายทุนและนักการเมืองที่รู้เรื่องนี้ก็บุกรุกจับจองเป็นเจ้าของไปไม่รู้กี่สิบล้านไร่แล้ว ต่างคนต่างอ้างกฎหมายคนละฉบับ
เฉพาะ กรุงเทพฯ และปริมณฑล 11 จังหวัด เมื่อนำแผนที่ One Map มาวัด สามารถลดพื้นที่ทับซ้อน (พื้นที่งอก) ได้กว่า 1.48 ล้านไร่ มากจนไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ขนาดนี้
เรื่องนี้ เป็นปัญหาใหญ่ของชาติ รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการผ่าตัดใหญ่ เพื่อทำผิดให้เป็นถูก ไม่งั้นแผ่นดินของชาติมีหวัง ถูกเฉือนไปให้ต่างชาติเช่า 99 ปี กันเต็มประเทศแน่นอน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”