“สมศักดิ์” รมว.สธ. เปิดตลาดนัดสุขภาพ ชู อาหารเป็นยา แนะ ทานให้พอดีกับความต้องการ ช่วยลดป่วยได้ หลังพบทานมากเป็นเบาหวาน ปิ๊งไอเดีย งบที่ประหยัดจากค่ารักษา จะนำมาตั้งกองทุนให้ อสม.


วันที่ 10 ก.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดตลาดนัดสุขภาพ “จากเมนูชูสุขภาพ สู่อาหารเป็นยา” โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย, นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม ที่บริเวณโถงชั้น 1 อาคาร 3 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การกินอาหารเพื่อสุขภาพ “ลดหวาน มัน เค็ม” หรือ “กินอาหารเป็นยา” เป็นคำที่ตนพูดอยู่เสมอ เพราะเป็นงานที่ตนให้ความสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันโรคจากพฤติกรรม หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทย และเป็นภาระงานของหน่วยบริการสุขภาพ เราจึงควรส่งเสริมความรู้ให้พี่น้องประชาชน กินอาหารที่เหมาะสม กินเมนูชูสุขภาพ ควบคู่กับการออกกำลังกาย เลิกเหล้า เลิกบุหรี่

“การจัดตลาดนัดสุขภาพให้กระจายไปทุกที่ทั่วประเทศ “จากเมนูชูสุขภาพ สู่อาหารเป็นยา” โดยผสมผสานความรู้ระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันกับภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย ซึ่งก็เท่ากับว่า เป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้เข้าถึง ได้เลือกซื้อเลือกหาอาหารที่ดี สะอาด ปลอดภัย เป็นการส่งเสริมสุขภาพอีกทางหนึ่ง ผมจึงขอขอบคุณกรมอนามัย เครือข่ายภาคเอกชน ผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่ร่วมกันจัดตลาดนัดสุขภาพทุกวันพุธ โดยขอให้ช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว

...

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ กรมอนามัย ได้รณรงค์มาตลอดหลายสิบปี เพราะการทานอาหารให้พอดี ทำให้เราไม่ป่วย และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ดังนั้นเราจึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนทานอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย เพราะบางครั้งทานมากเกินไปก็จะทำให้เกิดโรค เช่น เบาหวาน ตนจึงกำลังคิดว่าจะให้ อสม.ช่วยรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจการทานอาหารให้ถูกวิธี จะได้เจ็บป่วยน้อยลง ส่วนงบประมาณที่ประหยัดค่ารักษา ตนก็กำลังศึกษาว่าจะนำกลับมาเป็นกองทุนให้ อสม. ได้หรือไม่ ในฐานะเป็นรั้วของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า เรื่องการทานอาหาร ตนต้องการให้เกิดการเรียนรู้ว่า ใน 1 มื้อ มีคาร์โบไฮเดรตเท่าไร ซึ่งตัวเลขที่กรมอนามัยมีข้อมูลคือ ไม่ควรเกิน 600 กิโลแคลอรี น้ำตาล 2 กรัม ไขมัน 10 กรัม เกลือ 700 มิลลิกรัม โดยเราจะประกาศให้ประชาชนทราบว่า ใน 1 มื้อควรทานเท่าไร ซึ่งตนจะให้ อสม. ช่วยรณรงค์เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติได้ถูกต้อง ส่วนหากประหยัดค่าใช้จ่ายการรักษาในแต่ละปีได้เท่าไร ก็กำลังศึกษาว่าจะนำงบส่วนนั้นมาช่วยองค์กรในกระทรวงสาธารณสุขได้หรือไม่ เช่น งบประมาณ สปสช.ที่ใช้ในการรักษาฟอกไตปีละ 16,000 ล้านบาท หากมีการรณรงค์ลดการป่วย และลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ ก็ควรนำมาใช้ประโยชน์กับบุคลากรทางการแพทย์ แต่ก็ต้องดูระเบียบว่าสามารถทำได้หรือไม่.