"อาจารย์อุ๋ย ปชป." ชี้ "หวยเกษียณ" ไม่ตอบโจทย์การออม หากหนี้ครัวเรือนยังสูง แนะ รัฐเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ช่วยประชาชนมีเงินเหลือ แล้วจึงมาออม ดีกว่าการใช้หวยมาล่อ 
 
วันที่ 8 ก.ค. 67 จากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการออมเงินโดยการออกนโยบายหวยเกษียณ และล่าสุดมีผลสำรวจจากนิด้าโพลออกมาว่า ประชาชนเมินและไม่เห็นด้วย นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ว่า

"เรื่องหวยเกษียณที่รัฐบาลมีดำรินั้น ผมยังไม่เก็ตเท่าไร ว่ามันต่างจากสลากออมสินหรือสลาก ธ.ก.ส. ที่มีการแจกรางวัลจากการเอาเงินไปฝากอย่างไร แถมสลากออมสินหรือสลาก ธ.ก.ส.นั้น ยังได้เปรียบกว่าตรงที่สามารถถอนออกมาได้พร้อมดอกเบี้ย เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ถึง 2 ปี ไม่ต้องรอจนถึงอายุ 60 ปี แบบหวยเกษียณ อีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่รู้จักออมเงิน แต่เป็นเพราะ ไม่เหลือเงินจะให้ออมมากกว่า เนื่องจากตามสถิติแล้ว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยสูงถึง 91.4% ต่อ GDP โดยที่ สองในสามของหนี้ครัวเรือนนี้เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ (non-productive loan) และการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันก็ยังต้องพึ่งหนี้นอกระบบอีก ผมเลยไม่แปลกใจกับผลโพลที่ว่าประชาชนไม่สนใจหวยเกษียณ เพราะตอนนี้แค่หาเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ก็ยากแล้ว จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อหวย
 
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องรีบทำตอนนี้ คือการหาทางเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้มากกว่ารายจ่าย แล้วจะได้เหลือเงินมาเก็บออม มากกว่าที่จะมากระตุ้นให้ประชาชนออมเงินโดยใช้หวยมาล่อ ซึ่งการเพิ่มรายได้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืนนั้นต้องยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เป็นเศรษฐกิจที่ส่งออกสินค้ามูลค่าสูง เป็นแรงงานทักษะสูง สร้างเทคโนโลยีได้ด้วยตนเอง ซึ่งสุดท้ายแล้วจะทำให้รายได้ต่อหัวของประชาชนเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด
 
ส่วนการแก้หนี้ครัวเรือนนั้น ต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ไม่ว่าจะเป็น การขยายเวลาชำระหนี้ การพักชำระเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ยหรือรีไฟแนนซ์ (เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้) ส่วนหนี้นอกระบบก็ต้องเร่งปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง ที่ขูดรีดประชาชน รวมทั้งปฏิรูประบบเครดิตบูโร ยกเลิกแช่แข็งลูกหนี้ ใช้ระบบคะแนนเครดิต (credit scoring) แทนระบบแบล็กลิสต์ ซึ่งจะทำให้ผู้กู้เข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเป็นธรรมและง่ายขึ้น เกิดการแข่งขันให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้กู้ที่มีคะแนนเครดิตดี ตัดวงจรหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาหนี้ครัวเรือน 
 
สุดท้ายนี้ผมเห็นว่า การสร้างวินัยการออมนั้น หากจะให้ยั่งยืน ต้องมาจากการที่ตัวเราเองตระหนักว่า การออมนั้นมีประโยชน์กับชีวิตเราและคนที่เรารักอย่างไร มากกว่าที่จะให้เป็นผลพลอยได้จากการเสี่ยงโชคครับ ด้วยความปรารถนาดี"

...