โฆษกรัฐบาล ยัน “นายกฯ เศรษฐา” มุ่งมั่นขับเคลื่อนไทยสู่การเป็น Aviation Hub ของภูมิภาค เผย ต.ค. 66 – พ.ค. 67 มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินในไทย 81 ล้านคน ย้ำ ผลักดันติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินระดับโลกในปี 2572

วันที่ 7 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานของไทย ยกระดับมาตรฐาน การให้บริการ และความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศตามมาตรฐานสากล เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมการบินของไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค พร้อมสั่งการกระทรวงคมนาคมจัดทำแผนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเติบโตด้านคมนาคมทางอากาศ เพิ่มเที่ยวบินอย่างเต็มศักยภาพตามวิสัยทัศน์นายกรัฐมนตรี 

 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุต่อไปว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขานรับนโยบายตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี จัดทำแผนดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเติบโตด้านการคมนาคมทางอากาศของไทยในทุกมิติ มั่นใจว่าด้วยความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ไทยจะดำเนินการตามมาตรฐานการบินขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA CAT1) สามารถเปิดให้บริการ เพิ่มเที่ยวบิน หรือเพิ่มจุดบินใหม่ๆ ในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ที่ใช้มาตรฐานด้านการบินของ FAA

ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพ ทรัพยากร และความพร้อมของประเทศ กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าแผนขยายขีดความสามารถท่าอากาศยาน พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยสามารถผลักดันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ติด 1 ใน 58 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Airport) ประจำปี 2567 ขยับขึ้น 10 อันดับ จากอันดับที่ 68 ประจำปี 2566 ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ติดอันดับ 1 ใน 10 สนามบินโลว์คอสต์ที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Low-Cost Airline Terminals) ประจำปี 2567 และอยู่ระหว่างการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารอีก 81,000 ตารางเมตร รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 ในช่วงเดือนกันยายน 2567 เพื่อรองรับเที่ยวบินเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมงจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

...

อนึ่ง ภายในปี 2572 ได้ตั้งเป้าหมายผลักดันท่าอากาศยานของไทยติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินของโลก สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 170 ล้านคน และเที่ยวบินประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน และในปี 2577 สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 210 ล้านคน และเที่ยวบินประมาณ 1.2 ล้านเที่ยวบิน 

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยอีกว่า ข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม ยังชี้ให้เห็นว่าสถิติตัวเลขผู้โดยสารระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – พฤษภาคม 2567 มีผู้โดยสารใช้บริการเดินทางเข้า-ออกท่าอากาศยานของประเทศไทยรวม 81.05 ล้านคน ฟื้นตัวร้อยละ 83.4 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 48.95 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 32.09 ล้านคน มีเที่ยวบินรวม 490,970 เที่ยวบิน ฟื้นตัวร้อยละ 80.9 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 274,410 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 216,560 เที่ยวบิน

“นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นพัฒนาท่าอากาศยานไทยตามวิสัยทัศน์ Aviation Hub ยกระดับศักยภาพท่าอากาศยานไทยเพื่อความสะดวกของผู้ใช้บริการ เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานไทยตั้งเป้าให้ติดระดับท่าอากาศยานระดับโลก ให้สามารถรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก ตอบโจทย์ทุกวัตถุประสงค์การเดินทาง เชื่อมั่นสามารถเพิ่มเม็ดเงินเข้าไทย ขยายโอกาสประเทศ”