นายกฯ ยัน ให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยกับคนไทยและนักท่องเที่ยว ยินดีกับความสำเร็จระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน “Cell Broadcast Service” ผ่านมือถือ ครั้งแรกในไทย แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา คาดการณ์แล้วเสร็จต้นปี 2568 


วันที่ 6 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ผลสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงาน กสทช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมจัดทำ Cell Broadcast Service หรือ CBS ระบบเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่จริงครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งาน สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง โดยทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถรับข้อความได้พร้อมกันทันที เพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที ช่วยสร้างความมั่นคง ปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน CBS เป็นเครื่องมือสำคัญในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ 5 ภาษา ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า โดยจะส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในรูปแบบข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ และเสียง ทั้งยังมีสัญญาณเสียงและข้อความที่แสดงบนหน้าจอ (Pop up) รวมถึงรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความ ทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือนแก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย

...

สำหรับระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับ ตามฟังก์ชันการใช้งาน โดยใช้ความร่วมมือกับฐานข้อมูลของภาครัฐ ประกอบด้วย

1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที

2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น

3. การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัว เพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวัง และช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์ รายงานผล ถ้าพบคนหายหรือคนร้าย

4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่ หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น

5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ ต่อไป


ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เนื่องจากเป็นระบบใหม่ในประเทศไทย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ และการติดตั้งทั่วประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568 ซึ่งเมื่อระบบพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ประชาชนทั่วประเทศจะได้รับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้คนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชื่นชมการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ด้านสาธารณภัยของประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ พร้อมสั่งการให้ต่อยอดเพิ่มความปลอดภัยให้คนไทย และนักท่องเที่ยวในทุกพื้นที่” นายชัย กล่าว.