นายกรัฐมนตรี พร้อมต่อยอดจากงาน “THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024” เชื่อมั่นไทยมีศักยภาพ โฆษกรัฐบาลเผยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ตั้งเป้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 4 ล้านล้าน ใน 4 ปี 

วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ไทยให้เติบโต ยกระดับทักษะขั้นสูงแก่แรงงานไทย พร้อมต่อยอดความสำเร็จจากการจัดงาน THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024 เมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับกระแสความสนใจจากประชาชนชาวไทยจำนวนมาก และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิด ตกผลึกเป็นแนวนโยบายที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปขับเคลื่อนการทำงาน ควบคู่กับการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างพื้นที่การรับรู้ให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย นับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดัน 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยสู่เวทีระดับโลก โดยตั้งเป้า 4 ปี สร้างตัวเลขเศรษฐกิจ 4 ล้านล้านบาท 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า งาน THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024 แม้จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่สามารถดึงดูดผู้ชมได้จากหลายช่วงวัย สร้างแรงบันดาลใจ สร้างเวทีแลกเปลี่ยน และสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของซอฟต์พาวเวอร์ไทย โดยนับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดัน 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยสู่เวทีระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ 

...

1. สาขาหนังสือ ส่งเสริมงานแปลและงานเขียนไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีแนวทางที่จะนำโครงการแปลหนังสือไทยไปต่างประเทศ รวมทั้งยังมีโครงการสร้างนักแปล สร้างนักวาดภาพประกอบ

2. สาขาภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชัน ผลักดันการตั้งสภาภาพยนตร์ และการจัดหลักสูตรให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในสาขานี้

3. สาขาอาหาร จัดทำโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย โดยปีนี้ตั้งเป้าพัฒนาคนในอุตสาหกรรมอาหาร 6,500 คน และจะเพิ่มเป็น 15,000 คน ในปี 2568 ฝึกอบรมกับสถาบันศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนพืชสมุนไพร 

4. สาขาการออกแบบ ผลักดันนักออกแบบไทยสู่สากล จัดทำนิตยสารเผยแพร่ผลงานนักออกแบบไทย และเปิดตัวนิตยสารไปยังเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก พร้อมนำนักออกแบบไทยไปพบชุมชนนักออกแบบของแต่ละเมือง รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้จ้างนักออกแบบภายในประเทศ

5. สาขาการท่องเที่ยว ส่งเสริมบูรณาการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรมกระจายรายได้สู่จังหวัดที่น่าเที่ยวอื่นๆ รวมถึงพัฒนาหลักสูตรการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และการบริหารจัดการภายในธุรกิจ

6. สาขาดนตรี ส่งเสริมบุคลากรด้านดนตรี ให้โอกาสเด็กไทยได้เรียนรู้ พร้อมๆ กับบุคคลที่ประสบความสำเร็จ สนับสนุนศิลปินไทย เพลงไทย รวมถึงผลักดันดนตรีพื้นถิ่นสู่เวทีโลก สร้างกลไกให้คนไทยเข้าถึง เพื่อสนับสนุนเพลงไทย ควบคู่กับการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา

7. สาขาเกม เปลี่ยนคนเล่นเกมให้เป็นรายได้ โดยจะจัดการแข่งขันเกมระดับท้องถิ่น เพิ่มสัดส่วนมูลค่าของเกมในประเทศไทย และจัดงานอีสปอร์ตให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค 

8. สาขาเทศกาล ถ่ายทอดเรื่องราวและประวัติศาสตร์ไทยผ่านการท่องเที่ยว รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้ผู้คนในท้องถิ่นสามารถเป็นผู้จัดงานเทศกาลได้ด้วยตนเอง ผ่านหลักสูตร เฟสติวัล อะคาเดมี พร้อมกับอบรมผู้ที่เป็น KOL (Key Opinion Leader) ให้สามารถเล่าเรื่องราวจากงานเทศกาลประเพณีเพื่อให้เกิดจดจำ และบอกต่อไปทั่วโลก

9. สาขาศิลปะ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม ส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล Thailand Art Move แหล่งข้อมูลครบวงจรของวงการศิลปะในประเทศ พร้อมเปิดให้ชมผลงานศิลปะที่มีมูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ในปี 2568 และฝึกอบรมพัฒนาคน การพัฒนาวงการศิลปะ

10. สาขาแฟชั่น เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ความงาม และงานฝีมือ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบและช่างฝีมือภายในประเทศ ผ่านการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพของศิลปินให้มีสถานที่พัฒนาทักษะ ร่วมกับอุตสาหกรรมสาขาอื่นๆ 

11. สาขากีฬา เน้นย้ำถึงการผลักดันมวยไทยสู่เวทีโลก โดยจะสร้างบุคลากรทางมวย มีผู้ผลิตสินค้ามวยขายทั้งในประเทศและส่งออก ผลักดันให้คนเข้าถึงกีฬา-กิจกรรมที่เกี่ยวกับมวยไทย 

ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายตามแนวนโยบายยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ภายในระยะเวลา 4 ปี ว่า จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 4 ล้านล้านบาท ยกระดับชีวิตของคนไทยทุกครัวเรือนให้มีรายได้ 200,000 บาทต่อปี สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชน ตลอดจนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จำนวน 20 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One family One Soft power : OFOS) เพื่อ Upskill-Reskill ทักษะสร้างสรรค์ของตนเอง โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าอบรมหลักสูตรที่ต้องการเพื่อเรียนรู้และพัฒนาทักษะได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านเว็บไซต์ OFOS

ในช่วงท้าย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า “นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าไทยมีศักยภาพพร้อมจะได้รับการผลักดันสนับสนุน โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นปฐมบทสำคัญสู่การเชื่อมโยงการดำเนินงานจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม สร้างแรงบันดาลใจ ประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ เป็นทิศทางสำหรับอนาคตให้แก่ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายพัฒนาทักษะและศักยภาพของคนไทย เพื่อเพิ่มโอกาส สร้างความมั่นคงให้แก่วิถีชีวิตของประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ”.