ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ การทำงานสื่อดิจิทัล ส่งผลต่อการตัดสินใจของศาล แจงเหตุ นัดพิจารณาหลายคดี 18 มิ.ย. 2567 ตุลาการบางคนติดนัด ยัน ไม่ได้มีสายมูเตลูอะไร ขอสื่อมวลชนทำหน้าที่พอเหมาะพอควร อย่าสุดโต่ง 

วันที่ 1 ก.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ จัดเสวนาโครงการศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชน เพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนมุมมองการทำงาน ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับสื่อมวลชน โดยเฉพาะในช่วงที่มีสถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างเข้มข้น นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นกล่าวเปิดว่า สื่อเป็นเครื่องมือของศาล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกบีบโดยสื่อไม่ว่าจะรายงานในทางบวกทางลบ หรือสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ ก็มีผลต่อการตัดสินใจของศาลอยู่ด้วยในบางลักษณะ จะมากหรือจะน้อยก็แล้วแต่ดุลยพินิจของธุรการแต่ละคนที่มีอิสระ บางคนก็คิดถึงสถานการณ์บ้านเมืองเป็นพิเศษ แต่บางคนไม่คิดถึงสถานการณ์บ้านเมืองเลย

นายนครินทร์ กล่าวอีกว่า สื่อในยุคดิจิทัลมี 3 ลักษณะ คือ

1. สื่อที่มีเจ้าของ โดยทุกองค์กรจะต้องมีสื่อเป็นเครื่องมือ และศาลก็มีสื่อเป็นของตัวเอง มีจดหมายข่าว มีแถลงข่าว ปัจจุบันสื่อที่มีเจ้าของเปลี่ยนไปแล้ว อาจจะไม่ใช่องค์กรแต่เป็นบุคคล ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของสื่อได้ ทั้งนี้ เมื่อไม่กี่วันก่อนตุลาการก็แสดงความคิดเห็นว่า ควรจะสื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 18 มิถุนายน

พร้อมชี้แจงว่า การประชุมในวันดังกล่าวไม่ใช่สายมูเตลู ไม่มีเรื่องลึกลับซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องของการไปตกลงกับใคร แต่เหตุผลเนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ติดภารกิจ มี 1 คน ได้แจ้งลาล่วงหน้าไว้เป็นเดือน และอีก 1 คน ติดภารกิจสอนกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถประชุมในวันที่ 19 หรือในวันที่ 20 ได้ ไม่มีการประชุมในสัปดาห์นี้ก็ต้องเลื่อนไปเป็นสัปดาห์ต่อไป ยอมรับว่า ศาลไม่ใช่หน่วยงานที่จะกระตือรือร้นแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทุกเรื่อง ส่วนเจ้าหน้าที่ถูกคุมด้วยวินัยต้องรู้ว่า สิ่งไหนที่สามารถเปิดเผยกับสื่อมวลชนได้ ดังนั้นการเป็นเจ้าของสื่อเป็นเรื่องขั้นต้น

...

หรือลักษณะที่ 2 คือสื่อว่าจ้าง ศาลก็ต้องใช้การว่าจ้าง เป็นอีกวิธีการหนึ่งของการบริหารสื่อ ปัจจุบันสื่อถูกว่าจ้างโดยองค์กรธุรกิจ ว่าจ้างโดยคณะบุคคล หน่วยงานราชการ และศาลก็ไม่สามารถว่าจ้างสื่อได้ทั้งหมด

และสุดท้ายสื่อที่มาจาก earn media หรือได้รับมาจากความไว้วางใจ อาจจะมาจากความเกลียดชังก็ได้ที่คนอื่นเขียนถึงศาล ตนคิดว่าสื่อประเภทนี้เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ น่าดีใจ และน่าสนใจ เพราะไม่ต้องว่าจ้าง แต่เขียนถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันอยู่ที่ไหนก็เขียนได้ ขอให้มีโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งโลกดิจิทัลทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สื่อก็มีการแบ่งฝ่าย และก็จะมีการกลั่นกรองสะท้อนกลับมายังศาล

ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอีกว่า โลกดิจิทัลทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกชัดเจน ทั้งเรื่องการเมืองระดับประเทศและการเมืองภายใน การแบ่งฝ่ายทำให้รับฟังอีกฝ่ายน้อยเกินไป พร้อมตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณของสื่อในยุคดิจิทัลว่าอยู่ที่ไหน ในอดีตมีสมาคมสามารถที่จะอบรมตักเตือนได้ แต่จรรยาบรรณของสื่อยุคดิจิทัลเป็นปัจเจกบุคคล น่าจะมีการควบคุมดูแลกันบ้าง ผ่านกลไกตักเตือนโดยตักเตือนตัวเองหรือผู้ใหญ่เตือน แต่ไม่ใช่การควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ เพราะอยู่ในโลกประชาธิปไตย ถ้าควบคุมเบ็ดเสร็จคืออนาธิปไตย ขณะที่องค์กรศาลเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้ทุกเรื่อง เพราะเป็นงานที่เกี่ยวกับการตัดสินความมั่นคงและคดีความ จึงต้องอยู่ระหว่างความสมดุลการตรวจสอบและการรักษาความลับ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศชาติ ดังนั้นขอให้สื่อทำงานแบบสมดุล พอเหมาะพอควร ไม่สุดโต่ง

ช่วงท้าย นายนครินทร์ กล่าวว่า บางเรื่องตุลาการเราตอบได้ แต่บางเรื่องศาลเป็นองค์กรที่อยู่กับความลับ ถ้าไปเปิดเผยทุกอย่าง อันนั้นไม่ใช่ศาล ความจริงองค์กรของรัฐบางประเภทก็เปิดเผยทุกอย่างไม่ได้อยู่ดี เพราะเกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีความ ความมั่นคง ถ้าเราเปิดเผยความมั่นคงของประเทศต่อสาธารณชน รัฐจะไม่เหลือสภาพเลย ขอสื่ออย่าสุดโต่ง ให้อยู่ในจุดที่มีความสมดุลกัน ระหว่างความโปร่งใสตรวจสอบได้กับความลับที่ต้องดูแลให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัยต่อประเทศชาติ