“วรชัย” ชี้ เลือก สว.67 ส่อแววเป็นกระบวนการ ปูด จัดตั้งแบบเป็นระบบ หวังปั้นคนในองค์กรอิสระ ด้าน “ธเนศ” สส.ศรีสะเกษ วอน กกต. ตรวจสอบให้ดีก่อนประกาศรับรองผล

วันที่ 29 มิถุนายน 2567 นายวรชัย เหมะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มีการร้องเรียนถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึง 614 เรื่อง ว่า เรื่องนี้เป็นผลพวงของการยึดอำนาจ ผลพวงจากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้การเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็น สส. หรือ สว. ไม่ได้เกิดจากอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเลือก สว.รอบนี้ เห็นชัดว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนไปเป็นสภาสูง 

นายวรชัย ระบุต่อไป การเลือก สว.ครั้งนี้ ส่อแววเห็นชัดหลายเหตุการณ์ว่าเป็นกระบวนการ ตั้งแต่การรับสมัครเลือกตั้งกลุ่มอาชีพที่ไม่ตรงปก ในระดับอำเภอ จนถึงระดับจังหวัด และระดับประเทศ มีผู้ระดมผู้สมัครเข้ามา โดยการออกค่าสมัครให้ ออกค่ารถค่าเดินทางให้ ในระดับอำเภอ ได้คนละ 10,000 บาท ระดับจังหวัดคนละ 20,000 บาท เมื่อมาถึงระดับประเทศคนละ 200,000 บาท ทำให้ถูกมองได้ว่ามีคนอยู่เบื้องหลังในการจัดคนเข้ามาสมัครเป็น สว. 

แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือ ผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1-5 จะมีคะแนนไล่เลี่ยกัน พอไปถึงคนลำดับที่ 6-7 คะแนนจะถูกทิ้งห่างอย่างมีนัย ซึ่งตนได้ยินมาว่ามีการจัดตั้งแบบเป็นระบบ มีการนั่งวางแผนร่วมกันว่าจะให้คนที่เข้ามาเป็นโหวตเตอร์ลงคะแนนให้ใคร เพื่อให้ได้เป็น สว. ตามที่วางไว้ ด้วยวัตถุประสงค์ต้องการเข้ามาคุมสภาสูง เพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมือง และที่สำคัญจะได้คัดเลือกผู้เข้าไปนั่งในองค์กรอิสระตามที่ตัวเองต้องการได้ นี่คือผลผลิตจากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การที่ผลออกมาแบบนี้ เรามองได้ว่าต้องรีบแก้รัฐธรรมนูญให้อำนาจมาจากประชาชน เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนในอดีต

...

ทางด้าน นายธเนศ เครือรัตน์ สส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือก สว. ที่มีคำร้องจำนวนมาก ว่า ไม่ต้องดูอะไรมาก แต่ด้วยสามัญสำนึกทุกคนรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ต้องคิดอะไรทางการเมืองเลยก็จะเห็นได้อย่างชัดเจน บางจังหวัดไม่มี สว. แม้แต่คนเดียว แต่บางจังหวัดมี สว.เป็น 10 คน ระบบประชาธิปไตยควรมีการกำหนดจำนวนประชากรต่อจำนวน สว.ให้กระจายไปแต่ละพื้นที่ เช่น จังหวัดละ 1 คน แบบนี้หรือไม่ แต่ที่เกิดขึ้นตอนนี้มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น กลายเป็นว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา อันนี้ตนไม่เห็นด้วย ยกตัวอย่าง จ.ศรีสะเกษ ทั้งจังหวัดมีผู้สมัครกว่า 3,000 คน มี สว. 9 คน ทั้งที่มีประชากร 1.5 ล้านคน กทม. มีประชากร 10 ล้านคน แต่มี สว. เท่ากัน มันไม่ได้เป็นสัดส่วน ตนมองว่าทุกจังหวัดควรมี สว. เพราะ สว. ต้องทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย คัดเลือกองค์กรอิสระ แม้ไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่มีส่วนกำหนดทิศทางประเทศ เพราะเป็นคนเลือกผู้เข้าไปเป็นองค์กรอิสระที่กำกับรัฐบาลอีกทีหนึ่ง 

นายธเนศ กล่าวอีกว่า ที่พูดมานี้ไม่ได้หมายความว่ามีปัญหาทั้งหมด ส่วนที่เหมาะสมก็มี แต่ดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับการเมืองมากกว่า อีกหน่อยก็จะเห็นการวางตัวประธานวุฒิสภา ทุกอย่างมองเป็นทางแล้วดูออก ซึ่งการแก้อะไรตรงนี้คงยากแล้ว นอกจากมีการร้องเรียนเข้ามา ก็อยากให้ กกต. ตรวจสอบให้ดีก่อนประกาศผล มีอะไรที่ไม่ตรงตามกระบวนการกฎหมาย จ่ายเงินจ่ายทอง เก็บตัวกันอย่างไร ขอให้เข้าไปตรวจสอบให้ชัดเจน ขณะเดียวกันมองว่า กระบวนการคัดเลือกที่ออกมาเช่นนี้หากจะไปแก้อะไรคงยากแล้ว แต่ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญคงต้องนำปัญหาเหล่านี้มาเป็นโจทย์เพื่อหาทางแก้ไขให้ดีขึ้น.