นายกฯ เปิดงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ครั้งแรก ตั้งเป้าใหญ่ "การสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้" ขณะที่ "แพทองธาร" หัวหน้าเพื่อไทย ปาฐกถาพิเศษประกาศปักหมุดหมายสำคัญ ประเทศไทยพร้อมเป็นหนึ่งในผู้นำซอฟต์พาวเวอร์ของโลก
วันที่ 28 มิ.ย. 2567 เมื่อเวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง สส. และสก.พรรคเพื่อไทยร่วมงาน โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการฯ และคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติให้การต้อนรับ โอกาสนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้นำนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะเยี่ยมชมนิทรรศการ THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 โดยแบ่งออกเป็น 21 จุด 4 โซน 11 พาวิลเลี่ยนจาก 11 อุตสาหกรรม รวมถึงพาวิลเลี่ยน THACCA และพาวิลเลี่ยนซอฟต์พาวเวอร์นานาชาติจากประเทศอิตาลี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ที่ส่งออกวัฒนธรรมสร้างสรรค์จนเป็นที่นิยมในระดับนานาชาติ
...
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงานว่า นโยบายซอฟต์พาวเวอร์นี้ เกิดจากความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของเราเติบโตจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ที่มีคนเกี่ยวข้องทำงานอยู่จำนวนมาก ซึ่งงานในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเป็นแรงงานที่ใช้ทักษะต่ำ หนำซ้ำยังต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ฤดูกาล น้ำฝน น้ำท่วม น้ำแล้ง ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่มีความไม่แน่นอน ส่งผลกระทบไปสู่สถานะทางการเงินของครอบครัว และระดับประเทศ แสดงออกมาเป็นปริมาณหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงกว่า 90% ดังนั้น โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องได้รับการ Upgrade จากการใช้แรงงานทักษะต่ำ หันไปใช้มันสมองและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น โดยเฉพาะในยุคของดิจิทัลเอจ (Digital Age) และงานที่ให้มูลค่ากับฝีมือมากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า จากภาพรวมดังกล่าว รัฐบาลจึงเล็งเห็นการผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ให้เป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยทั้งหมด สามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยศักยภาพของทุกคน ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรม ฝีมือ และเวทีในการแสดงออก เป้าหมายใหญ่ของเราคือ “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” เพื่อให้คนไทยอยู่ดีมีสุข และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้า ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้จึงมุ่งปักหมุดใน 3 สร้าง คือ สร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง สร้างเวทีแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม Soft Power ของไทยผ่านการเรียนรู้ case study ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ และสร้างสุดท้าย คือ สร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางถึงพลังซอฟต์พาวเวอร์ไทย ให้สื่อสารทุกทิศทางอย่างทรงพลัง เปรียบเสมือนการสาด หรือ SPLASH
"รัฐบาลนี้ ตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 สาขา โดยนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์กับทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และบริการของไทย เราตั้งเป้าให้เวทีนี้เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ตอบโจทย์ทุกความสนใจ รวมถึงเป็นเวทีแห่งโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ที่ประสบความสำเร็จในวงการอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก" นายกรัฐมนตรี กล่าว
โอกาสนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายการขับเคลื่อนและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ว่าการจัดงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 นี้ เป็นจุดเริ่มสำคัญของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ซึ่งเราจะได้สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความฝัน และโอกาสที่จะปลดปล่อยพลังของคนไทยให้กระจายไปทั่วโลก ซึ่งในงานตลอดทั้ง 3 วันนี้ จะได้พบกับการแสดงวิสัยทัศน์ การแบ่งปันเรื่องราวจากตัวจริงของแต่ละภาคอุตสาหกรรมทั้งในไทยและต่างประเทศ นิทรรศการนโยบายที่จะบอกเล่าเรื่องราวการทำงาน การทำเวิร์กช็อปมาให้เรียนรู้ และที่สำคัญที่สุดคือจะเป็นครั้งแรกที่จะเปิดให้มีการลงทะเบียน “โครงการหนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS)” เพื่อยกระดับศักยภาพของตัวเองภายในงานนี้
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า นโยบายซอฟต์พาวเวอร์นี้เพิ่งเริ่มต้นมาแค่ 9 เดือน แต่ภารกิจนี้ไม่ใช่เริ่มวันนี้ แต่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยที่เราเชื่อเสมอว่า ภูมิปัญญา วัฒนธรรมไทย และศักยภาพคนไทยมีมูลค่าสูง สามารถดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก ซึ่งในวันนั้นนโยบายที่เป็นรูปธรรมคือ OTOP หรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่สนับสนุนพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากของพี่น้อง 7,000 ตำบลทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงระดับประเทศและสร้างมูลค่าต่อเนื่องมาจากปี 2545 จนถึงวันนี้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า แม้จะผ่านมาแล้ว 20 ปี นโยบายนั้นสำเร็จแต่ยังไม่ถึงเป้าหมายเพราะยังขาดจิ๊กซอว์ที่หายไปจากภาพใหญ่ที่จะทำให้ซอฟต์พาวเวอร์นั้นสมบูรณ์ ครั้งนี้เราจึงคิดใหญ่ ตั้งเป้าหมายใหญ่ ตั้งเป้าให้ชัดเจนว่า ซอฟต์พาวเวอร์ จะต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 4 ล้านล้านบาทยกระดับชีวิตคนไทยทุกครอบครัว ให้มีรายได้ไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อปี สร้างแรงงานทักษะสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 20 ล้านตำแหน่ง จะต้องมีร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 100,000 แห่ง ยิมมวยไทยทั่วโลกจะต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20,000 แห่ง หนังสือจากคนไทยจะต้องได้รับการแปลในหลายภาษาอย่างเป็นระบบ หมอลำ TPOP นักร้องลูกทุ่ง จะได้มีพื้นที่ในเวทีคอนเสิร์ตระดับนานาชาติ มีแฟนเพลงทั่วโลก เทศกาลของประเทศไทยจะต้องได้รับ IP Festival
โจทย์ของการทำงานซอฟต์พาวเวอร์ในเวลานี้คือ เราจะไปถึงเป้าหมายทั้งหมดนี้ได้อย่างไร เราจะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้แข็งแรงจากวันนี้ไปถึงอนาคตได้อย่างไร คำตอบก็คือเราจะต้องสร้าง Ecosystem ให้ยั่งยืนด้วยการเติม 3 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่
1. นโยบายการพัฒนาศักยภาพคน นโยบาย OFOS หนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ คือ การ reskill Up skill ครั้งใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศ เราจะยกระดับทักษะของคนไทย ยกระดับรายได้ เติมแรงงานที่เก่งเข้ามาในระบบเพื่อทำให้เกิดการพัฒนา
2. นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม คือการตั้ง THACCA Thailand Creative Culture Agency หน่วยงานกลางที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบาย รวบรวมงบประมาณไม่ให้กระจัดกระจาย แก้ไขปัญหากฎหมายที่ติดขัดในอุตสาหกรรม ความพิเศษของ THACCA คือการสร้างกลไก ให้ภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรมเป็นผู้นำภาครัฐเป็นครั้งแรก
3. นโยบายต่างประเทศ หลักสำคัญคือ เราจะส่งออกสิ่งที่แต่ละประเทศต้องการ เราได้ทำงานร่วมกับคณะทูตไทยทั่วโลกและทูตพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้มอบนโยบายนี้เพื่อจับคู่สิ่งที่เรามีกับสิ่งที่ในแต่ละประเทศต้องการ เพื่อขยายโอกาสให้คนไทย
“ซอฟต์พาวเวอร์ที่เราทำในวันนี้ อาจผลิดอกออกผลอย่างเต็มที่ในอีก 10 ปีข้างหน้า มันไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีทางลัด ต้องทำด้วยกลไกใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นจริงเท่านั้น แต่วันนี้ รัฐบาลนี้เริ่มทำแล้ว และทำอย่างจริงจังมากที่สุดเท่าที่เคยมีในประวัติศาสตร์ และนโยบายนี้จะเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอีกหลายสิบปีข้างหน้า” รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าว
ทั้งนี้งาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00-19.00 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ฮอลล์ 1-2 ชั้น G ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานได้ฟรีตลอดทั้ง 3 วัน โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ได้ทาง
https://general.icv-allservice.com