เป็นของใหม่แกะกล่องของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา” ทวีสิน คือรายการ “คุยกับเศรษฐา” เพิ่งออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ เอาเข้าจริงพูดกันตรงๆก็คือรายการตีปี๊บอวดผลงานของรัฐบาลฝีมือนายกรัฐมนตรี อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อ “แก้ตัวแก้ต่าง” ทำนองนั้น

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก การสื่อสารถึงกันระหว่างประชาชนกับรัฐนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว

พูดง่ายๆว่า “ด่วน” ทั้งวันเพราะมีการสื่อสารอยู่ตลอดเวลา

ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรประเดี๋ยวเดียวรู้กันทั้งประเทศ

ยุคสมัยนี้จึงมิอาจปิดกั้นความจริงไปได้แม้แต่รู้กันสองคน ก็ยังมิวายแพร่กระจายไปแล้ว ดังนั้น การโฆษณาชวนเชื่อเหมือนแบบสมัยก่อนจึงไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด

มีแค่ต้องเป็นเรื่องจริงทำจริงพูดจริงเปิดเผยโปร่งใส... เท่านั้น

ในรายการก็คงไม่มีใครที่จะยอมรับความผิดพลาดบกพร่อง นอกจากแก้ตัวแก้ต่างกันเพียงแต่ขยายความมากขึ้นเท่านั้น

อย่างนายกรัฐมนตรีบอกว่าที่ต้องบินไปนอกถี่ยิบตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศนั้น ถือเป็นไฟต์บังคับเพราะต้องพบปะผู้นำชาติต่างๆเพื่อแสดงตัวในฐานะผู้นำคนใหม่

ที่สำคัญคือต้องการปลุกต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอันเป็นทิศทางของรัฐบาลที่สำคัญ

แต่คำถามมีว่าจำเป็นถึงขนาดนั้นหรือ และได้ผลจริงหรือไม่

คำตอบ ณ วันนี้ก็คือไม่มีความจำเป็นถึงขนาดนั้น ค่อยเป็น ค่อยไปก็ได้ทุกอย่างมีเวลาของมันอยู่

อีกคำถามก็คือแล้วต่างชาติเข้ามาลงทุนตามเป้าหมายหรือไม่ คำตอบก็คือยังลอยลมอยู่ในอากาศที่บอกว่าสนใจๆก็มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น

สรุปก็คือไม่ได้ส่งผลดีต่อประเทศ หรือแม้แต่ทิศทางการ เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่คาดหวัง วันนี้ยังหน้าตั้งหาช่องทางคลำปัญหากันอยู่

...

ก็ไม่มีใครว่าอะไร...

แต่ที่ถามกันนั้นก็ด้วยความหวังดีว่าอะไรที่มันมากไปเกินพอดีมันก็มีทั้งดีและผลเสีย เพียงแต่ผลสุดท้ายที่ออกมานั้น

มันคุ้มค่าหรือไม่?

ให้คำตอบตัวเองได้แล้ว...

นอกจากนั้นยังเผยด้วยว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากเหมือนรถที่ยังไม่วิ่งเต็มสูบเหมือนเฟอร์รารี่ 12 สูบแต่วิ่งอยู่แค่ 6-7 สูบเท่านั้น แล้วเราก็เดินหน้ากันเต็มที่

“แต่ก็ต้องค่อยทำกันไปเพราะอย่างที่บอกว่า มีหลายเรื่อง ไม่ใช่ทำเองได้ ตัดสินใจภายใต้คนเดียวได้ มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล มีทั้งฝ่ายตรวจสอบ มีทั้งรัฐสภา มีทั้งข้าราชการ มีทั้งเอ็นจีโอ ซึ่งในหลายๆเรื่องอาจจะมีคนเห็นแย้งบ้างก็ต้องทำประชาพิจารณ์

เอาเป็นว่าไม่ว่านายกรัฐมนตรีคนไหนต่างก็ต้องเจอสภาพที่ไม่ต่างกัน

เพราะนี่คือรัฐบาลไม่ใช่ธุรกิจเอกชน

“ซีอีโอ” ที่เข้ามาทำหน้าที่จึงเกิดปัญหาไม่ได้ดั่งใจ เพราะเคยแต่สั่งแล้วต้องได้อย่างใจ แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ต้องดูแลทั้งประเทศ จึงต้องปรับตัวและทำความเข้าใจกับสภาพความเป็นจริง

นี่ก็คือปัญหาของนายกรัฐมนตรีเอง

อยู่ที่ว่าจะมีความสามารถบริหารจัดการได้แค่ไหนเท่านั้น!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม