คณะรัฐมนตรีลงมติเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ให้ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ BRICS สำนักงานนโยบายยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้เผยแพร่ข่าวว่าเพื่อขยายความร่วมมือการค้าและการลงทุน คณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติให้แสดงความจำนงเป็นสมาชิกกลุ่ม 5 ประเทศ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้

ในเวลาใกล้เคียงกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น คามิ กาวา โยโกะ ได้เขียนบทความลงหนังสือ พิมพ์ “บางกอกโพสต์” เปิดเผยว่าไทยแสดงความสนใจที่จะเข้าเป็นสมาชิกขององค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) องค์การ 38 ประเทศ ซึ่งปีนี้มีญี่ปุ่นเป็นประธาน แต่ไม่รู้ว่าคืบหน้าไปถึงไหน

กลุ่มบริกส์ 5 ประเทศตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 สำนักงานนโยบายยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กลุ่มนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาอีก ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนองค์การซึ่งถือว่าเป็นองค์การของประเทศพัฒนา มีสมาชิก 38 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป

โออีซีดีน่าจะตั้งมานานหลายทศวรรษ เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ปี 2567 เป็นปีที่ 60 ที่ญี่ปุ่นเข้าเป็นสมาชิกโออีซีดี และญี่ปุ่นได้รับเลือกให้เป็นประธานองค์การ รัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงท่าทีในลักษณะว่า อยากให้ไทยซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจก้าวหน้ากับอินโดนีเซียและสิงคโปร์เข้าร่วมโออีซีดี

แต่ไม่ทราบว่ารัฐบาลไทยยังสนใจที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศพัฒนาหรือไม่ หรือว่าตัดสินใจล่มหัวจมท้ายกับกลุ่มบริกส์ เพราะมีประชากรมาก กลุ่มโออีซีดีมาจากยุโรปถึง 26 ประเทศ จากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแค่ 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ไทยอยากเข้าคลับเศรษฐีหรือไม่

...

นักวิชาการท่านหนึ่งวิจารณ์ว่าไทยตัดสินใจผิดพลาด ที่เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ อาจมีสาเหตุจากความล้มเหลวของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาทำสัญญาฟรีวีซ่ากับยุโรป อีกเหตุผลหนึ่ง เพราะอดีตนายก รัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มีสัมพันธ์อันดีเป็นส่วนตัวกับประธานาธิบดีปูติน

ข้างต้นเป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการ ข้อเท็จจริงคืออะไรไม่แน่ชัด รู้แต่ว่าระดับผู้นำการเมืองบางคน ชอบสร้างสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวกับผู้นำต่างประเทศ แต่หวังว่าจะยึดถือผลประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญสุด อย่าลืมว่า ขณะนี้นานาชาติส่วนใหญ่ มีมติประณามรัสเซียหลายครั้ง หลังจากยกทัพบุกยูเครน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม