ภาวะการเมืองไม่แน่นอน-ไม่มีความชัดเจน เป็นสถานการณ์การเมืองที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง พลิกมุมมองในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง ระเบิดเวลาประเทศไทย”

ลองย้อนไปวันที่ 18 มิ.ย. กระบวนการตุลาการธิปไตยตัดสินคดีที่กองไว้ในวันเดียว สมมติเป็นลบหมด ล้มทั้ง 4 คดี การเมืองชะงัก-ล้ม-เจ๊งหรือไม่ หลักการเมืองมันเจ๊งไม่ได้ แต่ชะงักแน่ๆ กลายเป็นรัฐประหารเงียบ

โดยนักประชาธิปไตยก็มีข้อเถียงในประเด็นพวกนี้ สิ่งที่เห็น คือเสาค้ำอำนาจปีกอนุรักษ์นิยม “เสนาธิปไตย ฝั่งอำนาจของทหาร-ฝั่งตุลาการธิปไตย เป็นอำนาจที่ผ่านสถาบันตุลาการ-ธนาธิปไตย อำนาจทุนใหญ่-องค์กรและมวลชนอนุรักษ์นิยม” เป็นบ้าน 4 เสาฝั่งอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่พร้อมสนับสนุนการเมืองทิศทางขวาจัด

แม้ก่อนหน้านั้นพอผลการเลือกตั้งจบ ทำให้การเมืองหลุดออกจากระบบ คสช. พรรคการเมืองที่เกิดจากรัฐประหาร ไม่ชนะบนเงื่อนไขที่ 2 ลุงปีกอนุรักษ์นิยมแตกกันเอง หากยังจับมือกันแน่นอาจเป็นพรรคที่สำคัญ

นับเป็นความโชคดีของระบอบการเมือง เพราะการแตกของผู้นำทหารที่อยู่ในอำนาจนานๆ หลังรัฐประหาร ถือเป็นเรื่องปกติ แม้ยังเห็นความอีเหละเขะขะการตั้งรัฐบาล เห็นชัดเจนกติกาที่ คสช.วางระเบิดเวลาทิ้งไว้เป็นปัจจัยใหญ่ มันระเบิดจริงๆ กระเด็นกระดอนจนพรรคที่ชนะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

แตกเป็นเสี่ยง พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย เคยประกาศเป็นพรรคประชาธิปไตย วันนี้พรรคประชาธิปไตยกลายเป็น 2 เสี่ยง แล้วเถียงกันว่าใครเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน สรุปเป็นข้อถกเถียงที่ไร้สาระ

และยังทำให้คำสัญญาทั้งหลายทั้งปวง มันไม่เป็นคำสัญญา แต่อดแปลกใจไม่ได้ พรรคเพื่อไทยเล่นการเมืองมายาวนาน ดูจากคะแนนเสียงที่ได้ ทำไมต้องไปสัญญา

...

ในด้านหนึ่งการจัดตั้งรัฐบาลเป็นกระบวนการที่ไม่มีคำสัญญาใดๆทั้งสิ้น เมื่อไหร่ที่เชื่อกระบวนการตั้งรัฐบาลมีคำสัญญา เมื่อนั้นเจ๊ง เว้นแต่ตกลงหลังฉากจบแล้ว

รัฐบาลเข้ามาระเบิดเวลาการเมืองลูกแรกตูมก่อน

ลูกสองคือวิกฤติเศรษฐกิจที่ระเบิดซ้อนเป็นระยะๆ

เพราะวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิดระบาดยังไม่จบ ถูกทับซ้อนด้วยวิกฤติสงครามยูเครน แล้วถูกกระทบชิ่งวิกฤติสงครามในฉนวนกาซา ใครที่บอกว่าเศรษฐกิจดี อยากให้ไปดู “ดัชนีตลาดสด มันคือเศรษฐกิจตัวจริง” ระเบิดเวลาลูกนี้เป็นผลพวงจากโควิด-สงคราม ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการบริหารเศรษฐกิจหลังรัฐประหารปี 57 มีปัญหา

ดูเหมือนไม่มีปัญหา เพราะกู้ซ้ำได้เรื่อยๆ เหมือนฉาบหน้าด้วยภาษี เพื่อเดินนโยบายประชานิยม ลด-แลก-แจก-แถม ต่างกับประชานิยมในเวทีโลกที่ทำผ่านตัวนโยบาย ฝ่ายขวาที่อาจจะหนักกว่าไทยไม่ติดกับ

การรัฐประหาร สู้กันในรัฐสภา ส่วนฝ่ายขวาของไทยล้าหลัง

ฉะนั้นแนวโน้มการเมืองในระยะสั้นไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ปัญหาเหล่านี้น่าจะหนักขึ้น รวมถึงเงื่อนไขความเป็นรัฐบาลผสม ที่เป็นสูตรธรรมชาติการเมืองไทย สอดคล้องกับการเมืองโลก ยกเว้นในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ตกลงรัฐบาลผสมมีโอกาสอยู่รอดภายใต้เงื่อนไขความขัดแย้งภายในรัฐบาลแค่ไหน รัฐบาลผสมมีปัญหาจากปัญหาภายในของพรรคใดพรรคหนึ่งหรือไม่ เมื่อผู้อาวุโสบางท่านออกตัวแรง เพื่อมีบทบาททางการเมืองใหม่ มันเขย่าการเมืองเหมือนกัน เป็นระเบิดเวลาลูกเล็ก สร้างความปวดหัวให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ขณะที่ปัญหาข่าวลือรัฐประหาร ที่เป็นบริบทการเมืองไทย การเมืองเริ่มถูกเขย่า แม้ไม่ถึงขั้นไร้เสถียรภาพ ถูกเขย่าที่ไรมักตามด้วยคำถามถึงการรัฐประหาร ซึ่งอาจเป็นความฝันของคนบางคน ของผู้นำทหารบางกลุ่ม

ขอย้ำรัฐประหารปี 49 และปี 57 ได้เห็นการเผชิญกับแรงเสียดทาน แรงต้านที่มากขึ้น หากไทยตัดสินใจกลับไปสู่รัฐประหารในวาระครบรอบ 10 ปี ของการรัฐประหารปี 57 ภาพการเมืองไทยก็ล้าหลังไม่จบสิ้น

“ถ้าผู้นำกองทัพยังมีสติพอ คงตระหนักถึงปัญหาสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมา ซึ่งเป็นมรณานุสติให้กับผู้นำทหาร และผู้นำขวาไทย

ขอย้ำสงครามต่อต้านรัฐประหารในเมียนมารอบนี้ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมมือทุกฝ่ายกับชนชาวเมียนมา เป็นบทเรียน และต้องย้ำเป็นมรณานุสติให้กับผู้นำทหาร และผู้นำขวาจัด”

ทำรัฐประหารใหม่ ประเทศไทยพังพาบทันที

วันนี้การเมืองต้องปลดล็อกจากกับดักหรือเงื่อนไขรัฐประหารปี 57 รัฐประหารจบก็วางโครงสร้างการเมืองและอำนาจของฝ่ายรัฐประหารเอาไว้ รวมถึงโครงสร้างยุทธศาสตร์ชาติที่ยังไม่ถูกยกเลิก

แม้วันนี้เห็นเหมือนกับด้านหนึ่งมีเลือก สว. ก็มีปัญหาที่สุด ทุกคนตอบเป็นทิศทางเดียวกันเป็นการออกแบบเพื่อให้เกิดความทุลักทุเล อย่าบอกนะว่าทั้งหมดต้องการออกแบบให้ สว.ชุดเดิมได้นั่งต่อไป เพราะ สว.ชุดใหม่ตั้งไม่ได้ ปัญหาเลือก สว. คือตัวอย่างที่ตอบให้เห็นว่าการเมืองปัจจุบันมี 2 ด้าน คือไม่แน่นอน-ไม่ชัดเจน

สภาวะการเมือง อย่างนี้ต่อให้จับมือกันอย่างไร ปัญหาที่เริ่มรุมเร้าประเทศก็ทำให้เกิดคำถามมากขึ้น เราสามารถทำให้รัฐประหารไม่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ฉะนั้นอนาคตประเทศไทยสิ่งที่ต้องคิด ข้อเสนอการเมืองต้องสร้างพื้นที่ใหม่

ไม่ยึดติดการเมืองแบบแบ่งสองขั้วสุดโต่ง

“ผมย้ำเสมอ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพรรคประชาธิปไตย คำนี้ใช้ในเงื่อนไขรัฐประหาร แต่เมื่อเลือกตั้ง ทุกพรรคอยู่ในพื้นที่ประชาธิปไตย ตอนนี้กลายเป็นการเมืองวาทกรรมด่ากันไปมา บางครั้งทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บใจ และผูกใจเจ็บ

แต่ลักษณะนี้อย่างนี้ไม่มีในการเมืองยุโรป เพราะจัดพื้นที่การเมืองใหม่ มีปีกขวาจัด ปีกขวากลาง ปีกซ้ายกลาง ปีกซ้ายจัด แล้วจัดแต่ละพรรคลงไปอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ตามลักษณะ และทิศทางของนโยบาย

วันหนึ่งเมื่อตั้งรัฐบาลเกิดผสมข้ามขั้ว ในยุโรปถือเป็นเรื่องปกติ แต่ไทยสร้างเงื่อนการเมืองใหม่ เชื่อว่าการเมืองมี 2 ขั้ว การเมืองบริสุทธิ์ต้องไม่ผสมข้ามขั้ว เชื่อแบบนี้เท่ากับเดินสู่กับดัก”

ปัจจุบันเกิดวาทกรรม “นายกฯ 2 คน” นายเศรษฐา “บริหารราชการแผ่นดิน” นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ “บริหารการเมือง” ศ.ดร.สุรชาติ บอกว่า ในมุมหนึ่งถ้ายืนอยู่กับฝ่ายที่ยอมรับนายทักษิณได้ ก็มองเป็นเรื่องปกติ เพราะเขาเล่นการเมืองมาตลอด วันหนึ่งบอกให้หยุดเล่น คงเป็นไปไม่ได้ วิธีจัดการให้หยุดเล่นการเมืองคือ โปะคดีต่างๆลงไป ในหลายคดีก็มีคำถามว่าเป็นคดีการเมือง

ขณะเดียวกันนายทักษิณโดยบุคลิกไม่ใช่คนหยุดนิ่ง เมื่อเห็นพรรคเพื่อไทยถดถอยแล้วขึ้นเป็นรัฐบาล ซึ่งส่วนหนึ่งก็อยากเข้ามาเป็นตัวแก้ ปีกที่ต่อต้านนายทักษิณก็ทำใจไม่ได้ พอเป็นแบบนี้มันก็เกิดปัญหา

เราต้องยอมรับความจริงทางการเมือง เหมือนมีคำถามกับ 3 ผู้นำรัฐประหาร ตกลงหยุดเล่นการเมืองหรือไม่ ก็ยังไม่ได้หมดบทบาทของผู้นำเหล่านั้น แม้กระทั่งบางคนที่ประกาศตัวเป็นครูใหญ่ก็เหมือนกัน ฉะนั้นทุกคนเล่นการเมืองบนกระดานที่เปิด และอีกส่วนเล่นการเมืองอยู่หลังฉาก

ยุบพรรคก้าวไกล ปล่อยนายทักษิณ เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง อย่างไร ศ.ดร.สุรชาติ บอกว่า ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงอย่างที่กังวลกัน แต่สิ่งที่ตามมา คือแฟนคลับโพลิสติกส์ หรือการเมืองของติ่ง ใช้วาท กรรมด่าให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บใจ มากขึ้น เป็นลักษณะการ เชียร์ที่สุดโต่งมากขึ้น

ช่วงที่ผ่านมา เราไม่ค่อยเห็นเวทีหาทาง ออกให้การเมืองไทย เราใช้เวลาน้อยมากในการคิดหาทางออกให้กับปัญหาการเมือง ไทย อยากเห็นเวทีเชิงปัญญาถึงทางออกของสังคมไทย ไม่ใช่ไปสนุกกับการด่าไปมาด้วยความเชื่อว่า “ฉันเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเธอ เธอเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าฉัน”

วันนี้ต้องกระชากคนไทยออกจากสภาวะอารมณ์เป็นใหญ่ กลับสู่ภาวะการเมืองมีสติ สังคมที่ไม่เอาสติทางการเมืองเป็นตัวตั้ง มันมี 2 อย่าง คือ “เกิดวิกฤติ-แล้วเกิดความขัดแย้ง”

ยังไม่นับรวม “กบฏบางขุนพรหม” ที่เป็นปัจจัยตัวล็อกคอจนรัฐบาลขยับนโยบายไม่ออก ถ้ากบฏบางขุนพรหมยังอยู่ ผมในฐานะนักรัฐศาสตร์ ขอมองว่า เศรษฐกิจมหภาคก็มีปัญหา เพราะทิศทางนโยบายระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศ ไทยเดินสวนทางกัน และหลายฝ่ายยังเฝ้ามอง “ปีแห่งการเมืองโลกปั่นป่วนที่สุดอีกยุคหนึ่ง”

ระลอกคลื่นหลายปัญหาที่เริ่มเป็นวิกฤติมากขึ้น

โดยนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเวทีระหว่างประเทศมองว่า สถานการณ์โลกจะเกิดสงครามใหญ่ “ยุโรปคือยูเครน-ตะวันออกกลางคือฉนวนกาซา-เอเชียคือช่องแคบไต้หวัน และหมู่เกาะทะเลจีนใต้” ถ้าเกิดวิกฤติในเวทีโลก

นอกบ้านก็ระเบิดลูกใหญ่ ในบ้านก็ระเบิดหลายลูก

เศรษฐกิจไทยก็เปราะบาง-เกมการเมืองก็ถูลู่ถูกัง.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม