"แพทองธาร" ลุยหารือ ทวิภาคีแอฟริกาใต้ เสนอเริ่มข้อตกลงค้าเสรี 5 ประเทศกลุ่มแอฟริกา แนะ ความร่วมมือ "อาเซียน-ยูเรเซีย" ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างภูมิภาค
วันที่ 18 มิ.ย. 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นำคณะทำงานประกอบด้วย นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย นายดุสิต เมนะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร.ต.อ.ดร.ธนรัช จงสุทธานามณี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมการประชุมกับประเทศสมาชิก BRICS+ และ ASEAN-Russia Round Table ที่เมืองวลาดิวอสต็อก ประเทศรัสเซีย
...
โดย ในช่วงเช้า น.ส.แพทองธาร ได้หารือทวิภาคีกับ นาย Bapela Kopeng Obed รองประธานคณะกรรมการด้านต่างประเทศ พรรค African National Congress ในประเด็นการสร้างความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ระหว่างพรรคต่อพรรค พร้อมขอเสียงสนับสนุนในการเข้าร่วมสมาชิก BRICS+ ของประเทศไทย โดยทางพรรคหวังที่จะได้รับการประกาศชื่อเป็นสมาชิกโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ได้หารือถึงแนวคิดที่จะริเริ่มข้อตกลงการค้าเสรี Thailand-SACU Free Trade Agreement (FTA) ซึ่งสมาชิก The Southern African Customs Union มี 5 ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บอตสวานา เลโซโท สวาซิแลนด์ และ นามิเบีย ทั้งนี้ทางฝ่ายแอฟริกาใต้มีท่าทีตอบรับในประเด็นทั้งสองไปในเชิงบวก
จากนั้นในช่วงบ่าย น.ส.แพทองธาร ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “The Role of Responsible Political Forces of Russia and ASEAN Countries in Ensuring Financial and Economic Security of Sovereign States” โดยมีผู้แทนจากประเทศรัสเซีย และประเทศต่างๆ จาก ASEAN เข้าร่วมประชุม อาทิ กัมพูชา เวียดนาม ลาว เป็นต้น ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ได้กล่าวขอบคุณความคิดเห็นที่หลากหลายจากผู้แทนแต่ละประเทศ และเชื่อว่าการประชุมครั้งสำคัญนี้ จะนำไปสู่การแบ่งปันประสบการณ์ และหาแนวทางร่วมกัน โดยในส่วนของประเทศไทย น.ส.แพทองธาร ได้แบ่งปันประสบการณ์ของประเทศไทยเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังประเทศอาเซียน และอีกหลายประเทศทั่วโลก แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในไทย แต่ทุกประเทศก็ได้รับผลกระทบร่วมกัน ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการในการรับมือเรื่องดังกล่าว ในส่วนของ ASEAN ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากการโจมตีค่าเงิน และนำร่องตลาดตราสารแห่งเอเชียเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเพิ่มการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้วยการจัดตั้งสำนักงานศึกษาและวิจัยเศรษฐกิจมหภาค เพื่อไม่ให้ทุกประเทศต้องเผชิญเหตุการณ์ที่เลวร้ายร่วมกันมาอีก
ในส่วนของการประชุมในครั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ได้เสนอว่า BRICS+ สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ลักษณะหุ้นส่วนเพื่อการปรึกษาหารือกับ ACD โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและการเงิน ขณะเดียวกัน ดังเช่นที่ประเทศไทยสามารถร่วมมือกับ ASEAN ได้ รัสเซียและกลุ่มประเทศ EEC (Eurasia Economic Union) ก็สามารถร่วมมือกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวม สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง ASEAN และ EEC ได้มีการนับหนึ่ง ลงนาม MOU ระหว่างสองกลุ่มประเทศไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่ง น.ส.แพทองธาร เห็นว่า หากทั้งสองกลุ่มประเทศสามารถขยายความร่วมมือต่อไปได้ ก็จะเป็นก้าวสำคัญของภูมิภาค อันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินและเศรษฐกิจต่อไป