รองนายกฯ ภูมิธรรม ลงจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนุนเปลี่ยน “สนามรบเป็นสนามการค้า” เพื่อสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คาดการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 จะเห็นเป็นรูปธรรมในปี 2569


วันที่ 5 มิ.ย. 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ลงพื้นที่ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ประชุมติดตามความคืบหน้าการยกระดับ พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐติดชายแดนของมาเลเซีย สู่การเป็นเมืองคู่แฝด (Twin Cities) โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พลโทศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 รองเลขาธิการ ศอ.บต. รองผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมประชุมรายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง

นายภูมิธรรม กล่าวว่า การเดินทางลงมาพื้นที่ในครั้งนี้ ตั้งใจรับฟังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะประชาชน เยาวชน และผู้นำศาสนา ทั้งความยากลำบากและความสำเร็จในการทำงาน เพื่อให้เข้าใจพื้นที่มากขึ้น และสามารถนำไปปรับมอบนโยบายการทำงาน ขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด 

นายภูมิธรรม ยังระบุว่า คำว่า “สนามรบเป็นสนามการค้า” เป็นเป้าหมายของรัฐบาลเพื่อสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินการ อาทิ การพัฒนาเมืองคู่แฝด การพัฒนาด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก และการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 คาดว่าน่าจะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปี 2569 เนื่องจากกำลังเร่งพิจารณางบประมาณปี 68 ให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่นำเสนอเป็นการขับเคลื่อนและทำงานของ ศอ.บต. จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อชายแดนใต้และประเทศชาติ 

...

จากนั้น นายภูมิธรรม และคณะ ลงพื้นที่ติดตามรับฟังความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก หรือสะพานสุไหงโก-ลก แห่งที่ 2 ที่มีลักษณะโครงสร้างเป็นรูปเรือ มาจากการออกแบบของฝั่งประเทศมาเลเซีย สะท้อนภูมิปัญญาของทั้ง 2 ประเทศ    

โดยความคืบหน้าการดำเนินโครงการเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมด้านเทคนิคร่วมไทย-มาเลเซีย หารือการสำรวจพื้นที่ในฝั่งไทย การปรับแบบ รายละเอียด การออกแบบ และกรอบระยะเวลาโครงการ นอกจากนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา EIA เนื่องจากบริเวณก่อสร้างสะพานดังกล่าว เป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และมีประชาชนอาศัยอยู่เป็นเวลานาน ดังนั้นต้องมีการหารือกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบมากที่สุด