“พิธา” ชี้ ยุบก้าวไกล ทำให้พรรคอ่อนแรงลงในระยะสั้น แต่เชื่อจะ “ติดเทอร์โบ” นโยบายแบบก้าวหน้าเติบโตระยะยาว หวังสภาฯ เปิดพื้นที่คุย ม.112 โปร่งใส-มีวุฒิภาวะ ไม่ผลักคนรุ่นใหม่ให้จนมุม
วันที่ 2 มิ.ย. 2567 หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย โดยเฉพาะคดียุบพรรคก้าวไกล ที่กำลังดำเนินอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ด้วยข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครองจากการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 112
นายพิธา กล่าวว่า ตนยังคงเชื่อมั่นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาและวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลอย่างเป็นธรรม พร้อมย้ำว่า การกล่าวหาตนและพรรคก้าวไกลว่า เป็นกบฏหรือผู้ทรยศที่มุ่งล้มล้างการปกครองนั้นถือเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริง เพราะสิ่งที่ตนและพรรคก้าวไกลเสนอคือความสมดุลทางกฎหมาย ระหว่างการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
นายพิธา กล่าวต่อไปว่า คดียุบพรรคจะทำให้พรรคก้าวไกลอ่อนแรงลงในระยะสั้นเท่านั้น แต่จะเป็นการ “ติดเทอร์โบ” (turbocharge) ให้พรรคได้แต้มต่อในแนวคิดและนโยบายแบบก้าวหน้าในระยะยาว โดยยกตัวอย่างสถานการณ์การยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2563 ซึ่งทำให้พลังของพรรคอ่อนแอลงชั่วคราว แต่ก็สามารถกลับมาฟื้นคืนแบบติดเทอร์โบได้ในการเลือกตั้งปี 2566 แสดงให้เห็นว่า แนวคิดแบบก้าวหน้ากำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยพรรคก้าวไกลได้เก้าอี้ในสภาฯ มาครองเพิ่มขึ้นเป็น 151 ที่นั่ง จากเดิมที่พรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 ได้ 81 ที่นั่ง
“ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแนวคิดแบบก้าวหน้าคือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคการเมืองใดๆ” พิธากล่าว
นอกจากนี้ นายพิธา ยังกล่าวถึงสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ซึ่งสัปดาห์ที่แล้ว น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ถูกตัดสินจำคุก 2 ปีโดยไม่รออาญา ขณะเดียวกันในช่วงกลางเดือนก่อน น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 28 ปี ก็เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงระหว่างการถูกควบคุมตัวในเรือนจำก่อนการพิจารณาคดีมาตรา 112 โดยระบุว่า หากพวกเราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับอนุญาตให้อภิปรายเรื่องหลักความได้สัดส่วนของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างมีวุฒิภาวะ โปร่งใส และด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะคลี่คลายลงไปได้ในระดับหนึ่ง โดยไม่ผลักเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ให้จนมุม
“หากเรามีพื้นที่ในการพูดคุยถกเถียงเรื่องนี้กันได้ในรัฐสภา ก็จะไม่เกิดการกดดันให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ เลือกวิธีการประท้วงที่ทำร้ายตัวเอง รวมถึงคนที่พวกเขารักด้วย” นายพิธากล่าว
...