“ชยธรรม์” ปลัดคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามงานก่อสร้าง-พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 กำชับปรับปรุงแผนและยุทธศาสตร์ให้ทันสมัย เป็นไปตามเป้า สอดรับนโยบายรัฐบาล มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค
วันที่ 3 มิถุนายน 2567 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้นำคณะกรรมการและที่ปรึกษาคณะกรรมการ พร้อมด้วย นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กกท. และผู้บริหาร กทท. ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรับทราบปัญหาและติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 งานก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการถมทะเล เพื่อเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานให้โครงการสามารถแล้วเสร็จตรงเวลา เป็นไปตามกรอบระยะเวลาของสัญญาที่ได้ทำไว้พร้อม และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีด้วย
ขณะเดียวกัน ปลัดกระทรวงคมนาคม ยังได้เดินทางไปตรวจการดำเนินงานรับทราบปัญหาเพื่อแก้ไขให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการขนส่งตู้สินค้าเชื่อมต่อทางเรือเข้ากับทางรถไฟ ของ Single Rail Transfer Operator : SRTO ซึ่งหากการดำเนินการมีประสิทธิภาพในการให้บริการ จะช่วยให้การขนส่งสินค้าผ่านช่องทางนี้มากขึ้น เป็นการลดปริมาณการขนส่งทางถนนลง ซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ในระบบการขนส่งสินค้าของประเทศโดยรวม ด้วยการบูรณาการ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำกับทางรางที่มีต้นทุนถูกกว่า ให้ไร้รอยต่อแบบ Seamless Multimodal Transport ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
...
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะ ยังได้เข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ที่ท่าเทียบเรือชุด D รวมถึงรับทราบการนำระบบ รถบรรทุกไร้คนขับ (autonomous truck) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้ในการปฏิบัติการ เพื่อยกระดับศักยภาพความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย Green Transport ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการของท่าเรือดังกล่าวในปัจจุบัน และมีแผนที่จะขยายการให้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต
สำหรับการลงพื้นที่ติดตามงานก่อสร้างในส่วนของงานถมทะเล ในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 ผู้แทน กลุ่มผู้รับเหมางาน ในกลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC ได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงาน ที่ปัจจุบันได้มีการเร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยได้เพิ่มแรงงาน เครื่องจักร และเรือขุด Grab Dredger เข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน ทำให้ปัจจุบันมีขีดความสามารถในการขุดดินได้วันละ 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และคาดว่าจะสามารถส่งมอบงานก่อสร้างถมทะเลที่แล้วเสร็จในพื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่ กทท. ได้ทันภายในเดือนกรกฎาคมนี้
นายชยธรรม์ กล่าวว่า แม้ตัวแทนผู้รับเหมาจะรายงานว่าได้ดำเนินการเร่งรัดงานขุดและถมทะเลด้วยการเพิ่มเครื่องจักรและแรงงานแล้ว แต่จากรายงานของผู้ควบคุมงานพบว่า ปัจจุบันผลงานก่อสร้างของผู้รับจ้างในแต่ละสัปดาห์ยังมีความล่าช้าจากแผนอยู่ จึงได้กำชับให้ผู้บริหาร กทท. ใส่ใจติดตามคุณภาพการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ระบุในสัญญาจ้าง ควบคู่ไปกับการเร่งรัดแก้ปัญหาในรายละเอียดกับกลุ่มผู้รับเหมากิจการร่วมค้าฯ เพื่อให้งานแล้วเสร็จเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งเป้าหมายสำคัญต่อไปคืองานก่อสร้างถมทะเลต้องแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบพื้นที่ F และพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 ทั้งหมดให้ กทท. ได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่ระบุในสัญญา เพื่อให้ กทท. สามารถส่งมอบพื้นที่ถมทะเลที่แล้วเสร็จให้ผู้รับสัมปทานได้ตามสัญญาสัมปทานที่ กทท. ลงนามไว้กับผู้รับสัมปทาน เพื่อทำการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ได้แล้วเสร็จตามแผนต่อไป
ปลัดกระทรวงคมนาคม เผยต่อไปว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งหลากหลายรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำที่มีความสำคัญ และถือเป็นเกตเวย์ในการขนส่ง นำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ เป็นส่วนช่วยสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นรากฐานในการสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่ง (Logistics Hub) ของภูมิภาค ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย
“ที่สำคัญในการลงพื้นที่และประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ พบว่าแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บทการพัฒนา และแผนปฏิบัติการของการท่าเรือฯ รวมถึงแผนแม่บทการพัฒนาของท่าเรือแหลมฉบัง จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย โดยกำหนดโจทย์ให้กับผู้บริหารการท่าเรือฯ ไปเร่งรัดดำเนินการร่วมกับพันธมิตรท่าเรือชั้นนำในต่างประเทศของ กทท. เพื่อให้สามารถกำหนดเป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการที่ทันสมัย สอดรับกับเป้าหมาย นโยบาย และยุทธศาสตร์ของรัฐบาล นำเสนอคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นชอบ นำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว”.