กรณีนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ถูก 40 สว. ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนจากตำแหน่ง ฐานฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ได้ขยายวงการอภิปรายออกไป เมื่อ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.คนใหม่ของพรรคเพื่อไทย ออกมาวิพากษ์อย่างเข้มข้น
นพ.เชิดชัยถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นใคร มาจากไหน ไม่ได้ผ่านมาจากประชาชนเลย แต่เพียงอ้างว่า สว.เลือกมา มันไม่ถูกต้อง การถอดถอนนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องของรัฐสภา ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ถ้าประธานาธิบดีทำอะไรไม่ถูกต้อง ให้ส่งเรื่องให้รัฐสภาถอดถอนจากตำแหน่ง
ไทยกับสหรัฐฯเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ไทยใช้ระบบรัฐสภา ส่วนสหรัฐฯเป็นระบบประธานาธิบดี สส.พรรคเพื่อไทยอาจเข้าใจผิด ที่ว่าถ้าประธานาธิบดีทำไม่ถูกต้อง ต้องส่งให้รัฐสภาถอดถอนทุกกรณี ข้อเท็จจริงก็คือ กรณีที่จะส่งให้รัฐสภาถอดถอนเป็นการกระทำผิดทางอาญาอย่างเดียว เช่น คดีฉ้อราษฎร์บังหลวง
ส่วนคำถามที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นใคร มาจากไหน คำตอบก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญไทยเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นครั้งแรก มีตุลาการถึง 15 คน ต้องผ่านคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน และผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ส่วนศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีตุลาการ 9 คน ตาม รธน. 2560
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ต้องผ่านคณะกรรมการสรรหา และผ่านวุฒิสภาเช่นเดียวกัน แต่ในช่วงรัฐบาล คสช.ที่มาจากรัฐประหาร ไม่มี สว. ต้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากการแต่งตั้งของ คสช.ทำหน้าที่แทน จึงเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองว่า รัฐบาล คสช.แต่งตั้งคนของตนในองค์กรอิสระหรือไม่
จากข้อเท็จจริงข้างต้น อาจตอบคำถามที่ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญเป็นใครและมาจากไหน” สส. พรรคเพื่อไทยเห็นว่าให้ก้าวถอยหลัง กลับไปใช้ “ระบบตุลาการรัฐธรรมนูญ” ดีกว่า เพราะส่วนใหญ่เป็นคดีการเมือง แต่ไม่ใช่เอานายกฯออกจากตำแหน่ง แต่ระบบตุลาการรัฐธรรมนูญเคยใช้เป็นเวลานาน และพิสูจน์แล้วว่าไม่น่าพอใจ
...
จึงเปลี่ยนมาเป็นระบบ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เหมือนกับประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ในยุโรป ที่ใช้ได้ผลดี แต่เมื่อนำมาใช้กับประชาธิปไตยไทยกลายเป็นของแสลง เพราะยุโรปไม่มีรัฐประหารแทรกแซง จึงขอเสนอต่อคณะกรรมการศึกษาการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าไม่ “โละ” ศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้เป็นสากลได้อย่างไร.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม