“วราวุธ” รมว.พม. ทดลองนั่งวีลแชร์ขึ้นเครื่องบิน หวังให้เข้าถึงความรู้สึกคนพิการขณะเดินทาง พร้อมรับฟังปัญหาจากผู้พิการ สายการบิน สนามบิน นำไปปรับปรุง วอนผู้โดยสารทั่วไปเข้าใจที่ผู้พิการอาจใช้เวลานาน

วันที่ 26 พฤษภาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ทดลองนั่งรถวีลแชร์เพื่อทำความเข้าใจและรับรู้ถึงความรู้สึกอย่างแท้จริงของคนพิการที่ใช้บริการสายการบินและสนามบิน พร้อมพบปะพูดคุยกับกลุ่มคนพิการที่สนามบินจังหวัดร้อยเอ็ด โดยกลุ่มคนพิการได้เสนอแนะขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพิ่มอารยสถาปัตย์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการภายในสนามบิน อาทิ ที่จอดรถ และการอำนวยความสะดวกคนพิการที่ใช้รถวีลแชร์ในการใช้บริการสายการบินและสนามบิน 

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนมีความเห็นใจคนพิการถึงความยากลำบากในการเดินทาง แต่ขณะเดียวกัน ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย การทดลองนั่งรถวีลแชร์ในครั้งนี้เพื่อที่ตนและกระทรวง พม. จะได้หาจุดตรงกลางที่พอรับได้ของทุกฝ่าย ระหว่างคนพิการ สายการบิน และสนามบิน จึงได้กำชับผ่านไปยัง นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. และนายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยตนรับฟังทุกข้อเสนอแนะที่กระทรวง พม. จะนำไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในการอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการในการเดินทางด้วยเครื่องบิน 

...

ทั้งนี้ จากการเดินทางลงพื้นที่ได้เห็นการอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการในส่วนของสายการบินและสนามบินเป็นอย่างไร จึงทำให้อยากรู้ด้วยตัวเองว่าหากเป็นคนพิการมาใช้บริการจะเป็นอย่างไร อยากเข้าใจถึงการอำนวยความสะดวกที่แท้จริงให้กับคนพิการว่ามีทางลาด มีบันไดขึ้นเครื่องบินอำนวยความสะดวกอย่างไร และที่สำคัญคือหัวใจของคนพิการ เวลาเดินทางนั้นมีความยากลำบาก มีอุปสรรคอย่างไรทำให้อยากรู้ว่า การขึ้นทางลาดในการขึ้นเครื่องบินจะยากง่ายอย่างไร ความลาดชันเป็นอย่างไร เพื่อนำมาเป็นกำลังใจให้กับสายการบินและสนามบิน

“ผมมาทดลองในวันนี้ อยากรู้ว่าพี่น้องคนพิการใช้รถวีลแชร์ขึ้นเครื่องบินจะยากลำบากแค่ไหน แต่ขณะเดียวกันเราต้องเข้าใจสายการบินและสนามบินด้วย กระทรวง พม. จะได้ดูว่ามีปัญหาอุปสรรคใดที่เราจะช่วยกันแก้ไข เพื่อให้มาพบเจอกันคนละครึ่งทางและลงตัว วันนี้ได้ความรู้หลายอย่าง และเราจะกลับไปแก้ปัญหาให้กับพี่น้องคนพิการ ซึ่งจะทำให้สายการบินและสนามบินไม่ลำบาก ผมขอให้ผู้โดยสารคนปกติทั่วไปได้เข้าใจและเห็นใจถึงความยากลำบากของคนพิการที่อาจจะต้องใช้เวลามากกว่าปกติในฐานะเพื่อนร่วมทางด้วย”