ปลัดมหาดไทย แจ้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ส่งเสริม สนับสนุน และขยายผลโครงการ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร เฉลิมพระเกียรติฯ และสร้างพลังการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พืชสมุนไพร เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้ประชาชน

วันที่ 26 พฤษภาคม 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนโครงการ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขับเคลื่อนภายใต้ชื่อ “โครงการ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” 

สำหรับหลักการที่สำคัญของการดำเนินโครงการ คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพระราชกรณียกิจด้านสมุนไพรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดจนพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาตามเป้าหมายที่ 17 หรือ Partnership

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำคู่มือการดำเนินโครงการฯ พร้อมทั้งมีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ดำเนินโครงการ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร เฉลิมพระเกียรติฯ โดยต่อยอดผลการดำเนินงานให้ครบถ้วนทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมครบถ้วนทั้ง 4 กิจกรรมการขับเคลื่อน ได้แก่ 

...

1. สมุนไพรท้องถิ่นเรา 

2. ปลูกปักรักษ์สมุนไพร 

3. สมุนไพรท้องถิ่นทรงคุณค่า

4. อนุรักษ์ สมุนไพรท้องถิ่น 

โดยในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการขับเคลื่อนงานการจัดการศึกษา อาจพิจารณาบูรณาการเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย และเพื่อให้เกิดการสร้างความรับรู้ความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนโครงการ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ อปท. สามารถจัดทำป้ายหรือพิจารณาปรับปรุงป้ายโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งประดับธงชาติไทย และธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 บริเวณสวนสมุนไพร ตามความเหมาะสม 

นอกจากนี้ ยังสามารถดำเนินการปรับปรุงพัฒนาแหล่งเรียนรู้ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร เฉลิมพระเกียรติฯ ให้มีความเหมาะสม สมพระเกียรติ พร้อมทั้งดูแลรักษา คงสภาพให้มีความสมบูรณ์อยู่เสมอ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ อปท. นั้นๆ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ บริเวณสวนสมุนไพรในห้วงเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นเดือนมหามงคล เช่น กิจกรรมสาธิตการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร การถ่ายทอดองค์ความรู้สมุนไพร จากปราชญ์ชาวบ้าน/ผู้เชี่ยวชาญ การทำอาหารพื้นบ้านโดยใช้ผลผลิตจากสวนสมุนไพร และการขยายพันธุ์ สมุนไพรหายาก/ใกล้สูญพันธุ์ เป็นต้น อันจะส่งผลให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร

ขณะเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยยังได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ส่งเสริมสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย โดยอาศัยกลไกของคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ระดับจังหวัด ในการกำกับ แนะนำ ให้คำปรึกษา และติดตามผลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งพิจารณากลั่นกรอง และคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลสำเร็จที่โดดเด่นในมิติต่างๆ หรือมีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจนเป็นที่ประจักษ์ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร เฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ตลอดจนถึงหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่าย โดยการสื่อสารสังคมเชิงรุกผ่านสื่อแขนงต่างๆ 

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า “ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เป็นผู้นำการบูรณาการทีมงานในพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ร่วมกันน้อมนำหลักการทรงงาน คือ ร่วมกันคิด ร่วมพูดคุยปรึกษาหารือ ร่วมกันทำ มาใช้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งสุดท้ายก็จะได้ร่วมรับประโยชน์ทั่วกัน เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล ทั้งในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและในฐานะจิตอาสา เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ผู้เป็นพสกนิกรที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเมื่อทุกพื้นที่ในประเทศไทยร่วมกันขับเคลื่อน สิ่งที่ดีก็จะเกิดขึ้นเต็มทุกพื้นที่ตารางนิ้วของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดไป”