"แพทองธาร" จุดพลุ "THACCA SPLASH : Soft Power Forum" งานระดับนานาชาติครั้งแรกของเมืองไทย! ดึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลกร่วมแสดงความสามารถ เผย คืบหน้า "OFOS แฟชั่น-ภาพยนตร์" หลักสูตร "Thailand Only"

วันที่ 24 พ.ค. เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2567 โดยมี แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมถึงคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่างๆ คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 11 สาขา ร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

...

ภายหลังการประชุม แพทองธาร แถลงข่าวผลการประชุม โดยแถลงร่วมกับ หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านภาพยนตร์-ซีรีส์ และ อินทิรา ทัพวงศ์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านแฟชั่น โดย แพทองธาร รายงานความคืบหน้าตามแผนที่วางเอาไว้ ทั้งในส่วนหลักสูตรของ OFOS ของทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น และภาพยนตร์ รวมถึงงานใหญ่ที่คณะซอฟต์พาวเวอร์ใช้เวลาเตรียมงานกันมา นั่นคืองาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum งาน Soft Power Forum ระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย

"เราจะปักหมุดประเทศไทยลงบนแผนที่โลก ให้ชาวโลกได้รู้ว่าประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนา Soft Power ไทยจะเป็นพื้นที่ของนักสร้างสรรค์ทั่วโลก มาร่วมทำงานกัน ซึ่งขณะนี้วัฒนธรรมไทยมีความพร้อมที่กระจายออกไปทั่วโลกให้ได้หลงเสน่ห์ และคนไทยพร้อมแล้วที่จะสร้าง Soft Power ไทยให้แข็งแรง" แพทองธาร กล่าว

สำหรับงาน SPLASH จะจัดขึ้นในวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และจะมีการรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ทั้งจากในประเทศและทั่วโลก โดยประกอบด้วย 4 ส่วน คือ SPLASH Visionary zone, SPLASH Creative Culture Pavilion, SPLASH Master Class และ SPLASH Activation Lounge

แพทองธาร เปิดเผยต่ออีกว่า สำหรับ SPLASH Visionary Zone มี 4 เวที ประกอบด้วย

- Vision Stage : เวทีวิสัยทัศน์รัฐบาล วิสัยทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก นโยบายที่เราขับเคลื่อน ทิศทางที่เราเลือกไป ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในโลก ปฏิญญาและความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น ทุกท่านจะได้ทราบในเวทีนี้ค่ะ


- Pathway Stage : เวทีของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยจะนำความสำเร็จของทั่วโลกมาถอดบทเรียน มาวิเคราะห์ถึงวิธีการ แนวคิด เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และแรงบันดาลใจให้อุตสาหกรรมที่สร้าง Soft Power


- Performance Stage : เวทีสำหรับคนรุ่นใหม่ให้ได้แสดงความสามารถโดยมีการแสดงจากหลายอุตสาหกรรม ทั้งศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ ดนตรี


- Podcast Studio : เวที Podcast ที่สัมภาษณ์กันสดๆ ในงาน เจาะลึกมุมมองแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ในงาน

แพทองธาร กล่าวต่อถึงอีกส่วนของงาน คือ SPLASH Creative Culture Pavilion ซึ่งโซนนี้จะเป็นนิทรรศการเรื่อง Soft Power ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมี 3 นิทรรศการ อาทิ


- THACCA Pavilion นิทรรศการของทักก้า อยากให้ทุกคนมารู้จักทักก้ากันที่งานนี้กันนะคะ ว่าเรากำลังจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยด้วย Soft Power ได้อย่างไร


- นิทรรศการของทั้ง 11 กลุ่มอุตสาหกรรมค่ะ ส่วนนี้เราจะมาทำความรู้จัก Soft Power ในประเทศไทยให้มากขึ้น ว่าศักยภาพในตอนนี้ของแต่ละอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร และภาพที่เรามองเห็นในอนาคตเป็นอย่างไร


- international Pavilion นอกจากนิทรรศการจากไทย ยังได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศที่มาเข้าร่วมให้ข้อมูลผ่านนิทรรศการในงาน

แพทองธาร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมี SPLASH Masterclass : ห้องเรียน Reskill Upskill ให้พี่น้องประชาชนที่สนใจ โดยจะมีห้องเรียนจากทั้ง อุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และยังมีพื้นที่สำหรับการ Hackathon เพื่อทดลองแข่งขันไอเดียกันอีกด้วย และสุดท้าย SPLASH Activation Lounge : พื้นที่สำหรับคุยแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสร้างความร่วมมือในการสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น เพราะงาน SPLASH จะรวมเอานักสร้างสรรค์ภาคเอกชนที่น่าสนใจไว้ในงานนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการ Matching ทางธุรกิจเกิดขึ้น

"ฝากพี่น้องประชาชนที่สนใจนะคะ มาเรียนรู้ มารู้จัก Soft Power ให้มากขึ้น เพราะซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้มีแค่นิยาม เรายังมีกระบวนการอีกมากมาย มางาน THACCA SPLASH Soft Power Forum ในวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์" แพทองธาร กล่าวจบในที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ยังมีวาระที่น่าสนใจ อาทิ ในส่วนหลักสูตรของ OFOS ของทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น และภาพยนตร์-ซีรีส์

โดยในด้านแฟชั่นมีการอบรมและพัฒนาบุคลากร ภายใต้กิมมิก "Soft Power แฟชั่น Thailand Only" 4 สาขา คือ Apparel, Jewelry, Beauty และ Craft โดยจะจัดอบรมในระดับบุคคลทั่วไป นิสิตนักศึกษา ทายาทปราชญ์ชาวบ้าน และในระดับโรงงานอุตสาหกรรม OEM โดยในระยะยาว จะเป็นการ พัฒนาทักษะเดิม และสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ โดยเน้นกระบวนการทำงานในการสร้างคนที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการผลิตผลงานและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลงานให้มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ผ่านการสร้างคน สร้างธุรกิจ และสร้างการรับรู้ในแบบ Thailand Only เพื่อปักหมุดแฟชั่นไทยเป็นหนึ่งในใจกลางตลาดโลก ส่งต่อที่สุดของความคราฟต์ ผสมผสานความสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดแบบ Thailand Only เพื่อยกระดับเรื่องราวความคราฟต์และความสร้างสรรค์ของวงการแฟชั่นสู่ระดับสากล ผ่านการสร้างการรับรู้ที่เพิ่มขึ้น ตั้งค่านิยมที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ

ส่วนในด้านของภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์นั้น จะมีการจัด OFOS ในสาขาดังกล่าว เพื่อสร้างโครงสร้างของระบบการเรียนรู้ของภาพยนตร์และซีรีส์ให้เป็นระบบ สร้างคนเข้าอุตสาหกรรมให้ได้ทุกปีและเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อระบบนี้เสถียรก็จะสามารถช่วยหน่วยงานอื่นๆ ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ในการทำภาพยนตร์และซีรีส์ได้ โดยมี 10 หลักสูตรเบื้องต้นในการ Upskill Reskill ของภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ อาทิ ผู้ประกอบการ Production House, นักเขียนบท Screenwriter, ผู้กำกับภาพยนตร์, ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์, โปรดิวเซอร์, ผู้กำกับภาพ, นักแสดง, Post Production, Production Designer และ Content Creator ซึ่งมีระยะดำเนินงานตั้งแต่ปี 2557-2568 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าอบรมในเร็วๆ นี้