เมื่อประมาณสิบกว่าปีมาแล้ว คนไทยที่เดินทางไปเที่ยวเวียดนาม มักจะได้รับคำบอกเล่าจากมัคคุเทศก์ท้องถิ่นว่า เวียดนามยังล้าหลังอยู่ประมาณสิบกว่าปี ถึงวันนี้มัคคุเทศก์เวียดนามคงต้องเปลี่ยนคำพูดใหม่ เพราะมีอะไรหลายอย่างของเวียดนามที่ก้าวหน้าล้ำเส้นประเทศไทย เช่น ด้านเศรษฐกิจ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (จีดีพี) ของไทยโตขึ้น 1.5% เป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน เพราะเวียดนามโต 5.7% ฟิลิปปินส์ 6.7% อินโดนีเซีย 6.1% มาเลเซีย 4.2%
จีดีพีไตรมาส 1 ของปี 2567 ของไทยต่อทางไตรมาส 4 ของปี 2566 คาดว่าปี 2567 ทั้งปีจีดีพีจะขยายตัว 2–3% มีค่ากลางอยู่ที่ 2.5% ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีดีพีปี 2567 ขยายตัว เพราะการท่องเที่ยวที่ขยายตัวถึง 24.8% รวมทั้งค่าพักแรมและอาหาร การขนส่ง การค้า การเงิน และการบริโภคภาคเอกชน
แต่มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำ ให้เศรษฐกิจไทยโตน้อยกว่าเพื่อนบ้าน เช่น งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังไม่ออกมา ต้องใช้งบเดิมไปพลางก่อน นอกจากนั้นมีปัจจัยลบภายนอกเหมือนเพื่อนบ้าน เช่น การกีดกันทางการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย–ยูเครน และสงครามตะวันออกกลาง
มีคนไทยไม่ใช่น้อยที่มีความหวังว่า ประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตย และก้าวเข้าสู่ความรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจ หลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 แม้พรรคก้าวไกล ผู้ชนะเลือกตั้งจะถูกกีดกันไปเป็นฝ่ายค้าน แต่เชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับนายกรัฐมนตรีจากนักธุรกิจจะทำให้เศรษฐกิจฟู่ฟ่า
นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้รับยกย่องเป็น “เซลส์แมน” ผู้ขยันขันแข็ง บินไปชักชวนนานาชาติให้มาค้าขายและลงทุนในประเทศไทย แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ทำสัญญาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศเล็กๆในเอเชียเพียงไม่กี่ประเทศ เจาะตลาดใหญ่ไม่ได้
...
หลักฐานที่ชัดเจนก็คือ การส่งออกของประเทศไทยนอกจากจะไม่ฟู่ฟ่าแล้ว ยังซบเซาเป็นระยะๆ แม้แต่นโยบายมหาประชานิยมที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงเลือกตั้ง คือการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต คนละหมื่นบาท ก็ยังลูกผีลูกคนอยู่ ส่วนด้านการเมือง การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังย่ำอยู่กับที่.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม