โฆษกรัฐบาล เผย ผลการตรวจสอบข้าว 10 ปี จากโครงการจำนำข้าว 2 โกดังสุรินทร์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันผ่านมาตรฐาน ย้ำทุกขั้นตอนละเอียดและโปร่งใส ขอประชาชนมั่นใจ ข้าวพร้อมขายให้ตลาดที่ต้องการ
วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกรณีข้อวิจารณ์ถึงคุณภาพของข้าวสารจากโครงการรับจำนำข้าว จำนวนกว่า 15,000 ตัน ใน 2 โกดังข้าว ณ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งล่าสุดทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยผลการตรวจสอบข้าวแล้ว พบว่าข้าวทั้ง 2 โกดัง จากโครงการรับจำนำข้าว จังหวัดสุรินทร์ ปลอดภัย ไม่พบสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ตกค้าง และยังมีคุณค่าทางโภชนาการ พร้อมย้ำมีการทำงานทุกขั้นตอนอย่างละเอียดต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 เพื่อให้ได้รับผลการตรวจสอบตามมาตรฐานสากล
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ผลการตรวจสอบดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการตามระบบคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. ISO/IEC 17025 ในห้องแล็บที่ได้มาตรฐานของโลกและเอเชีย ใช้บุคลากร นักวิทยาศาสตร์กว่า 10 ท่าน ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญสูง โดยได้รับตัวอย่างข้าวทั้ง 2 โกดัง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 จากกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการเก็บตัวอย่าง (Surveyor) คือ บริษัท โคเทคนา อินสเปคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศ มีมาตรฐานในการปฏิบัติ เเละมีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยแบ่งเป็น การเก็บข้าวตัวอย่างจากการผ่ากรอง 15 ชั้น จำนวน 3 กิโลกรัม และจำนวน 5 กิโลกรัม รวมทั้งยังได้นำข้าวตัวอย่างที่ซื้อจากท้องตลาดมาเปรียบเทียบกันด้วย
...
ผลการตรวจจำแนกเป็น 3 ด้านหลัก โดยสรุปดังนี้
1. ด้านกายภาพ และสิ่งแปลกปลอม ตั้งแต่การใช้ตาเปล่า และกล้องจุลทรรศน์ขยาย 30 เท่า พบว่าทั้งข้าวตัวอย่างที่ 1 และข้าวตัวอย่างที่ 2 พบเมล็ดข้าวทั้งเมล็ดสีเหลือง มีกลิ่นอับ พบมอดมีชีวิต และชิ้นส่วนแมลงปีกด้วงมากกว่าที่จำหน่ายตามท้องตลาด
2. ด้านความปลอดภัย ใช้การตรวจซ้ำใหม่ (Retest) ถึง 3 ครั้ง และมีการควบคุมคุณภาพภายในห้องปฏิบัติการ (IQC) ผ่านเกณฑ์การยอมรับ พบว่าไม่พบสารอะฟลาท็อกซิน ในข้าวตัวอย่างที่ 1 และข้าวตัวอย่างที่ 2 เช่นเดียวกับสารรมข้าว และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด ก็ไม่พบมีสารตกค้างด้วยเช่นกัน แต่กลับกัน พบสารอะฟลาท็อกซินในตัวอย่างที่ซื้อมาเปรียบเทียบ ซึ่งไม่ใช่ข้าว 10 ปีที่นำมาตรวจ แต่พบในปริมาณที่น้อยมาก
3. ด้านคุณค่าทางโภชนาการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำตัวอย่างข้าวสารในท้องตลาดมาตรวจเปรียบเทียบกับข้าว 2 ตัวอย่างดังกล่าว พบว่ามีคุณค่าทางอาหารไม่แตกต่างกับข้าวตัวอย่างที่ซื้อจากท้องตลาดมาเปรียบเทียบกัน
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากผลการตรวจสอบดังกล่าว ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุเพิ่มเติมว่า ข้าวทั้งหมดมีจำนวน 15,013.24 ตัน คิดเป็น 145,590 กระสอบ จะบูรณาการทำงานร่วมกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการของคณะกรรมการตรวจสอบและจัดทำ TOR เพื่อประกาศจำหน่ายข้าวทั้งหมด โดยจะประกาศจำหน่ายข้าวในสต๊อกเป็นการทั่วไป ซึ่งคาดการณ์ว่าไม่เกินสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567
ในตอนท้าย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า “ผลการตรวจสอบครั้งนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการทำงานอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่พร้อมดำเนินการทุกขั้นตอนโดยละเอียด เป็นไปตามมาตรฐานสากล ด้วยความโปร่งใส จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าข้าวดังกล่าวพร้อมสำหรับการขายให้กับตลาดที่ต้องการ ซึ่งจะมีกระบวนการปรับปรุงคุณภาพข้าวให้สอดคล้องมาตรฐานและความต้องการของผู้ซื้อต่อไป เพื่อนำรายได้กลับคืนสู่คลังประเทศอย่างคุ้มค่าที่สุด”